คุณสมบัติของจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตน้ำหมักชีวภาพ
คุณสมบัติของจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตน้ำหมักชีวภาพ
กลุ่มจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมการย่อยสลายเพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพ เป็นจุลินทรีย์ที่เจริญได้ดีที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และไม่ต้องการแสงแดด
กลุ่มยีสต์
ยีสต์ทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ ฮอร์โมน และกรดอินทรีย์หลายชนิด ยีสต์สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่เป็นกรดค่า pH ระหว่าง 4.0-6.5 น้ำหมักชีวภาพเป็นกรดนั้นเป็นผลดีต่อการควบคุมกลุ่มจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเสีย และในชณะเดียวกันแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหมักเป็นปัจจัยหนึ่งที่ควบคุมคุณภาพของน้ำหมักชีวภาพ
กลุ่มแบคทีเรียผลิตกรดแลคติก
โดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียที่ผลิตกรดแลคติกจะมีอยู่ในสภาพธรรมชาติ เช่น พืชผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และนม กรดแลคติกมีบทบาทในการถนอมอาหารหลายชนิด เช่น ผักดองต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น จุลินทรีย์ดังกล่าวมีความสามารถทนทานต่อสภาพความเป็นกรดสูง ซึ่งสภาวะความเป็นกรดสูงนี้จะมีผลกระทบต่อการยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์หรือกำจัดกลุ่มจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเสียของอาหาร ดังนั้นในการหมักวัสดุอินทรีย์ลักษณะสดจากพืช ผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์นั้น แบคทีเรียกลุ่มนี้ จะใช้น้ำตาลในการเจิรญและเพิ่มจำนวนเซลล์และให้กรดอินทรีย์โดยเฉพาะกรดแลคติกจึงมีผลยับยั้งการเจริญของกลุ่มจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเสียไม่สามารถเจริญได้
กลุ่มแบคทีเรียผลิตกรดอะซึติก
บทบาทสำคัญของแบคทีเรียชนิดนี้จะใช้แอลกอฮอล์ (Ethanol) เป็นอาหารและพลังงานให้เป็นกรดอะซีติก ในสภาพที่มีออกซิเจนในกระบวนการดังกล่าวนี้จะมีผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นเกิดขึ้นด้วยได้แก่สารอัลดีไฮด์ (Aldehyde) และเอสเทอร์ (Ester) ซึ่งเกิดขึ้นในปริมาณน้อย
กลุ่มจุลินทรีย์ย่อยสลายโปรตีน
จุลินทรีย์ ที่เกี่ยวข้องกับการแปรสภาพอินทรีย์ไนโตรเจนให้เป็นอนินทรีย์ไนโตรเจนประกอบด้วย แบคทีเรีย ราและแอคติโนมัยซีส ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่จะได้แอมโมเนีย จึงเรียกกลุ่มจุลินทรีย์เหล่านี้ว่า Ammonifiers แบคทีเรียกลุ่มนี้จะผลิตเอนไซม์ออกมาภายนอกเซลล์เรียกว่า Proteolytic enzyme (Protease) ทำหน้าที่ย่อยโปรตีนให้มีขนาดโมเลกุลเล็กลงได้เป็นกรดอะมิโน
กลุ่มจุลินทรีย์ย่อยสลายไขมัน
จุลินทรีย์กลุ่มนี้จะผลิตน้ำย่อยไลเปส (Lipase) เพื่อย่อยสลายไขมันจากวัสดุอินทรีย์ที่มีสารประกอบไขมันให้มีขนาดโมเลกุลเล็กลง และได้กรดใขมันที่เป็นประโยชน์ต่อไป
กลุ่มจุลินทรีย์ย่อยสลายเซลลูโลส
จุลินทรีย์กลุ่มนี้ช่วยสลายเศษพืชสดซึ่งมีส่วนประกอบของเซลลูโลส และเจริญได้ในสภาพที่มีอุณหภูมิปกติ
บทความอื่น ๆ ในเรื่องนี้
คู่มือ การผลิต และ การใช้ประโยชน์ น้ำหมักชีวภาพ
1. ความหมายของน้ำหมักชีวภาพ
2. คุณสมบัติของจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตน้ำหมักชีวภาพ
3. วัสดุที่ใช้ทำน้ำหมักชีวภาพ
4. ส่วนผสมใสการทำน้ำหมักชีวภาพหรือสูตรน้ำหมักชีวภาพ
5. ชนิดของน้ำหมักชีวภาพและส่วนผสม
6. ขั้นตอนและวิธีการผลิตน้ำหมักชีวภาพ
7. ปัจจัยที่ควบคุมการย่อยสลายในกระบวนการหมักน้ำหมักชีวภาพ
8. การตรวจสอบระหว่างการหมักเพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพ
9. หลักการพิจารณาน้ำหมักชีวภาพ
10. องค์ประกอบของน้ำหมักชีวภาพ
11. ลักษณะที่ดีของน้ำหมักชีวภาพ
12. คุณสมบัติของน้ำหมักชีวภาพ
13. อัตราและวิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพ
14. ประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพ
15. ข้อแนะนำ ในการผลิตและการใช้ประโยชน์น้ำหมักชีวภาพ
******
ที่มา : สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชนโดย : Kaset NaNa เกษตรนานา
ลิ้งค์ที่น่าสนใจ