Header Ads

Breaking News
recent

วิธีการร่อน "ทองคำ" และ แหล่งทองคำที่มีในประเทศไทย (คลิป)


          ทองคำ เป็นแร่ธาตุที่มีค่าอย่างหนึ่ง ซึ่งภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “คำ” ทองคำที่ร่อนมาได้จะถูกนำมาแปรรูปเป็นสร้อยคอบ้าง ต่างหูบ้าง หรือขายเป็นเม็ด ถ้าขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวจะมีราคาเม็ดละหลายร้อยบาทเลยทีเดียว (อาจจะ ขึ้นหรือลงได้)

          ด้วยราคาทองคำในปัจจุบันที่ถีบตัวสูงขึ้น การร่อนทองโดยชาวบ้านนอกจากจะทำให้รายได้ของชาวบ้านและหมู่บ้านดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลไปถึงเศรษฐกิจของประเทศให้สะพัดตามไปด้วย ทั้งนี้คงสืบเนื่องมาจากกรรมวิธีการผลิต การแปรรูปและการออกแบบลวยลายทองคำอย่างสร้างสรรค์ จึงเหมาะที่จะนำมาเป็นเครื่องประดับ อันสวยงามเป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้า จึงทำให้ทองคำเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย


แหล่งแร่ทองคำในประเทศไทย
          การสำรวจหาพื้นที่ศักยภาพของแร่ทองคำของกรมทรัพยากรธรณีพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพของแร่ทองคำสูง ยกเว้นบริเวณพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นที่ราบสูงที่ประกอบด้วยหินชั้นเป็นส่วนใหญ่ และพื้นที่ของภาคกลางตอนล่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแอ่งเจ้าพระยาที่ถูกปิดทับด้วยหินชั้นและตะกอน ผลการสำรวจสามารถกำหนดพื้นที่หลักที่มีศักยภาพแร่ทองคำสูงได้ 2 แนว คือ

          1. พื้นที่ที่อยู่ในแนวพาดผ่านตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และระยอง

          2. พื้นที่ที่อยู่ในแนวพาดผ่านตั้งแต่จังหวัดเชียงราย แพร่ ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก


          ประเทศไทยมีแหล่งแร่ทองคำที่เกิดแบบปฐมภูมิประมาณ 70 แห่ง และแบบทุติยภูมิประมาณ 100 แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในเชิงพาณิชย์ สามารถลงทุนทำเหมืองผลิตแร่ทองคำได้อย่างคุ้มค่าจำนวน 2 แหล่ง มีปริมาณทรัพยากรแร่ทองคำที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการ เพื่อดำเนินการทำเหมืองผลิตแร่ไปแล้ว มีประมาณ 22,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 22 เมตริกตัน และในเบื้องต้นปริมาณสำรองแหล่งแร่ทองคำแบบคาดคะเนของไทยมีประมาณ 168,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 168 เมตริกตัน

ในปัจจุบันพื้นที่ประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงในการผลิตแร่ทองคำ ประกอบด้วย 9 พื้นที่ ดังนี้

1. พื้นที่ในเขตตอนเหนือของจังหวัดอุดรธานี อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย อำเภอเมืองฯ อำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม จังหวัดเลย

2. พื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอเมืองฯ และอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว        

3. พื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอวังชิ้น อำเภอลอง จังหวัดแพร่

4. พื้นที่อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ขึ้นไปทางเหนือผ่านอำเภอเมืองฯ อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

5. พื้นที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ลงไปถึงอำเภอบ้านบึง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี จรดชายฝั่งทะเลที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

6. พื้นที่อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอปะทิว และอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร

7. พื้นที่อำเภอสุคิริน อำเภอระแงะ และอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และบริเวณตอนใต้ของจังหวัดยะลา

8. พื้นที่อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ถึงอำเภอสวนผึ้ง และอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

9. พื้นที่อำเภอเมืองฯ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอโคกสำโรง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์


แหล่งแร่ทองคำแบบปฐมภูมิ    
          คือ แหล่งแร่ทองคำที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา เช่น สายน้ำแร่ร้อน กระบวนการเติมสารละลายซิลิกา กระบวนการแปรสัมผัส ฯลฯ กระบวนการดังกล่าว ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินชนิดต่างๆ ทั้งหินอัคนี หินชั้น และหินแปร โดยอาจพบทองคำในลักษณะฝังประ หรือเป็นสายแร่ในเนื้อหินซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ส่วนใหญ่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จะทราบปริมาณของแร่ทองคำในเนื้อหิน จากการเก็บตัวอย่างหิน และส่งวิเคราะห์ทางเคมีเท่านั้น แหล่งแร่ทองคำที่เกิดแบบปฐมภูมิในประเทศไทย ได้แก่

- แหล่งแร่ทองคำโต๊ะโมะ     จังหวัดนราธิวาส
- แหล่งแร่ทองคำเขาสามสิบ  จังหวัดสระแก้ว
- แหล่งแร่ทองคำชาตรี  จังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์
- แหล่งแร่ทองคำดอยตุง     จังหวัดเชียงราย
- แหล่งแร่ทองคำเขาพนมพา   จังหวัดพิจิตร

แหล่งแร่ทองคำแบบทุติยภูมิ หรือแหล่งแร่ทองคำแบบลานแร่  
          เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำเป็นส่วนประกอบ หรือจากแหล่งแร่ทองคำแบบปฐมภูมิ ทองคำจะหลุดออกมาเป็นเม็ดกลม หรือเกล็ดเล็กๆ และพบในแหล่งที่ใกล้เคียงกับแหล่งแร่แบบปฐมภูมิ โดยสะสมตัวในที่เดิม หรือถูกน้ำชะล้างพัดพาไปสะสมตัวใหม่ ในบริเวณต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น เชิงเขา ลำห้วย ในตะกอนกรวดทรายในลำน้ำใหญ่ ชาวบ้านจะนำดินหรือตะกอนทางน้ำมาร่อน และเลียง คือ ไล่สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ออกจากแร่ เพื่อค้นหาเกล็ดหรือเม็ดทองคำ แหล่งแร่ทองคำที่เกิดแบบทุติยภูมิ ในประเทศไทย ได้แก่

- แหล่งแร่ทองคำบ้านป่าร่อน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- แหล่งแร่ทองคำบ้านนาล้อม  จังหวัดปราจีนบุรี
- แหล่งแร่ทองคำบ้านทุ่งฮั้ว  จังหวัดลำปาง
- แหล่งแร่ทองคำดอยตุง  จังหวัดเชียงราย
- แหล่งแร่ทองคำเขาพนมพา  จังหวัดพิจิตร

          แหล่งแร่ทองคำในประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั่วไปในหลายจังหวัด ยกเว้นพื้นที่ในส่วนที่เป็นที่ราบสูงโคราช และพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง พื้นที่ที่มีศักยภาพของแร่ทองคำสูงมีอยู่ 2 บริเวณ บริเวณแรก คือ ขอบตะวันตกและตอนเหนือ ของที่ราบสูงโคราช ตั้งแต่จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ หนองคาย ลงมาทางตอนบนของภาคกลาง และบางส่วนของภาคตะวันออก ในจังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และระยอง อีกบริเวณคือ ทางภาคเหนือ ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ และตาก ส่วนในพื้นที่อื่นๆ มักพบทองคำกระจายอยู่ทั่วไป เช่น บ้านป่าร่อน อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แหล่งโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

เครื่องมือประกอบการร่อนหาแร่ทองคำ


          1. "แหว่ก" เป็นเครื่องมือประจำบ้านเหมือนเสียมเหมือนจอบ ใช้สำหรับดายหญ้า และขุดดินแบบงานเล็ก

          2-3. "เพาะ" เป็นภาชนะสำหรับเก็บดินทรายจากการใช้แหว่กขุดเอามาใส่เพาะนี้ไปร่อนหาทองต่อไป


          4. “บ้าง” หรือ "บั้ง" เป็นเครื่องมือร่อนทรายหาทอง ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขุดเป็นรูปคล้ายกระทะก้นตื้นๆ มีที่จับตรงขอบ

          5. กะละมังใบเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ฟุต มีผ้าไนล่อนคล้ายมุ้งปิดอยู่ สำหรับใส่เศษทรายสุดท้ายที่มีเศษทองปนอยู่ โดยจะเอาน้ำใส่ไว้ด้วย

วิธีการร่อนทองคำ
          ทองคำ คือ สินค้าอันมีค่าอย่างหนึ่ง ชาวบ้านจะนิยมร่อนทองกันอย่างแพร่หลาย โดยจะมีเครื่องมือสำหรับร่อนทองคำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า บ้าง หรือ บั้ง ส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้มะค่ามีลักษณะเป็นกรวยขนาดใหญ่ คล้ายหมวกจีน เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างกว่าลำตัวคนเล็กน้อย สามารถแกว่งไปมานานๆได้อย่างสะดวก

บ้าง ร่อนทอง


การร่อนทองคำจะทำโดยใช้บ้างตักทรายหรือดิน



แล้วนำทรายหรือดินที่ตักไว้แล้วไปร่อนในน้ำ


โดยส่ายบ้างเป็นวงกลมให้ปากบ้างอยู่ในระดับปริ่มน้ำ จากนั้นน้ำก็จะพัดพากรวดหินดินทรายให้หลุดออกไป

ผงทอง

ส่วนเศษดินปนผงทองคำที่มีน้ำหนักมากกว่าจะตกอยู่ที่ก้นบ้าง(บั้ง)


เมื่อนำเศษดินปนผงทองคำที่เลียงได้มาผสมกับ “ปรอท” หรือที่เรียกว่า “บา” ที่ซื้อได้จากร้านขายยา


ผงทองในเนื้อดินจะถูกปรอทจับให้มารวมตัวกันเป็นเกล็ด จากนั้นใช้ผ้าขาวบางคัดแยกเกล็ดทองออกต่างหากจากปรอทผสมขี้ดิน เมื่อรวบรวมเกล็ดทองคำเป็นก้อนเล็กๆ แล้วนำไปห่อด้วยผ้า ใส่เข้าไปในเตาถ่านที่กำลังติดไฟ จากนั้นรอสักพักก็จะได้ก้อนทองคำสีเหลืองอร่ามสุกเปล่งสวยงามออกมา


* * * * *
ทำเกษตรแล้วไม่มีที่ขาย ขายได้ที่
ตลาดกลาง "ซื้อ-ขาย สินค้าเกษตร"
ที่สมาชิกเยอะที่สุด
VV คลิก VV

แชร์...ตรงนี้  เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV
Powered by Blogger.