Header Ads

Breaking News
recent

การผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในสภาพโรงเรือน


          ส้เดือนดิน เป็นสัตว์มากประโยชน์ที่อาศัยอยู่ในดินที่มีอินทรีย์วัตถุที่สมบูรณ์มาช้านาน ในอดีตกาลก่อนยุคเกษตรเคมีจะเข้ามาครองผืนดินของประเทศไทย ดินในเมืองไทยนั้นขึ้นชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์และมากไปด้วยชีวิตน้อยใหญ่หลากหลายที่เกื้อกูลกัอยู่ในชั้นดิน ดินจึงร่วนซุยมีธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อการเติบโตของพืช จึงทำให้ปลูกอะไรก็งอกงาม ได้ผลผลิตเต็มที่

          ต่อมาเมื่อมีการนำสารเคมีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มีปริมาณมากขึ้นในพื้นที่เท่าเดิม แบบให้ผลรวดเร็วทันใจ ดินของไทยที่เคยมีชีวิตก็เริ่มตายลงช้าๆ กลายเป็นปลูกอะไรก็ไม่งอกงาม ซึ่งมีผลมาจากสิ่งมีชีวิตในดินตายสิ้น โครงสร้างดินที่ร่วนซุยเปลี่ยนเป็นดินดาน ด้วยผลของการใช้สารเคมีที่สะสมทับถมพื้นดินมาหลายชั่วคน จวบจนปัจจุบันเกษตรกรไทย มีการตื่นตัวเรื่องสารเคมีกันมากขึ้น และตระหนักถึงการเกษตรอินทรีย์ที่ให้ความยั่งยืน เกษตรกรไทยจึงหันมาสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ดังเดิม ซึ่งในแนวทางการเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรแบบอิงธรรมชาติ การใช้ปุ๋ยที่มาจากอินทรีย์วัตถุบำรุงพืช ปรับปรุงผืนดิน กลายเป็นตัวช่วยทำให้ดินกลับมาดีและมีชีวิตได้เหมือนในอดีต จึงทำให้พืชปลูกงอกงามได้อีกครั้งบนดินผืนเดิม ซึ่งหนึ่งในปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ได้ผลดีเยี่ยม ช่วยฟื้นฟูโครงสร้างดินให้ร่วนซุยก็คือ ปุ๋ยจากมูลไส้เดือนดิน ที่นอกจากจะปรับโครงสร้างดินให้ดีขึ้นได้ภายในเวลาไม่นานแล้ว ยังทำให้ดินกลายเป็นดินที่มีชีวิตจากจุลินทรีย์ดินชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในมูลไส้เดือนดินได้อีกด้วย


          การผลิตปุ๋ยจากไส้เดือนดินนั้นจะได้มาจากขั้นตอนการเลี้ยงไส้เดือนดิน ไม่ว่าจะเป็นในสภาพโรงเรือน กล่องพลาสติก หรือ ชั้นคอนโด ก็ตามที กรรมวิธีการเลี้ยงไส้เดือนดินให้ประสบความสำเร็จนั้นจำต้องรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติของไส้เดือนดินแต่ละสายพันธุ์ รวมไปถึงปัจจัยที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของไส้เดือนดินด้านต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น การระบายอากาศ อาหาร และ ค่า pH ของวัสดุที่ใช้เพาะเลี้ยงไส้เดือนดิน

พันธุ์ไส้เดือนดิน
          พันธุ์ของไส้เดือนดินที่นำมาใช้เลี้ยงเพื่อการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนหรือปุ๋ยหมักในเมืองไทย ได้แก่ ไส้เดือนพันธุ์ Eisenia fetida (the tiger worm),Lumbricidae eisenia andrei (red tiger worm),Eudrilus eugemiae(african night crawler),Dendrobaena veneta, Perionyx excavatus, Polyheretima elongata และ Lumbricus rubellus


อาหารไส้เดือนดิน
          ไส้เดือนดินเป็นสัตว์ที่กินง่ายอยู่ง่าย และสามารถกินอาหารหรือย่อยสลายวัสดุได้หลายชนิด แต่ในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พืช ผัก ผลไม้ ปุ๋ยหมัก หรือ เศษอาหารต่างๆ ก็ดี เกษตรกรควรต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่มีสารเคมีตกค้าง หรือ สารที่เป้นพิษต่อชีวิตไส้เดือนดิน โดยอาหารที่นำมาใช้เลี้ยงไส้เดือน ได้แก่ เศษซากอินทรียวัตถุที่ใช้ในการทำปุ๋ยหมัก เศษวัสดุเหลือใช้ทุกชนิดจากภาคการเกษตร อุตสาหกรรม หรือ ขยะอินทรีย์จากชุมชน มูลสัตว์เก่า เช่น มูลม้า วัว ควาย วัสดุอื่นๆ เช่น ฟางข้าว ต้นกล้วย ผักตบชวา เปลือกข้าว ใบกระถิน ฯลฯ นั้นสามารถนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงไส้เดือนได้ทั้งหมด

การย่อยสลายขยะของไส้เดือนดิน
          จากการทดลองเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุโดยไส้เดือนดินของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ พบว่า ไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยพันธุ์ฟีเรทธิมา พีกัวน่า (Pheretima peguana) และ ไส้เดือนดินสายพันธุ์ต่างประเทศพันธุ์แลมบริคัส รูเบลลัส (Lumbricus rubellus) จะใช้อัตราส่วนของอาหารกับปริมาณไส้เดือนเท่ากับ 1 : 2 กิโลกรัม (โดยไส้เดือนสายพันธุ์ไทย 1 กก. มี 1,200 ตัว ส่วนไส้เดือนสายพันธุ์ต่างประเทศ 1 กก. มี 970 ตัว) ซึ่งจากการทดลองเลี้ยงในอัตราส่วนดังกล่าวแล้วพบว่า ไส้เดือนดินสายพันธุ์ต่างประเทศพันธุ์ แลมบริคัส รูเบลลัส (Lumbricus rubellus) มีความสามารถในการย่อยสลายขยะได้เร็วกว่าไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยพันธุ์ฟีเรทธิมา พีกัวน่า (Pheretima peguana)โดยใช้เวลาในย่อยสลายขยะน้อยกว่า 2 เท่าของไส้เดือนสายพันธุ์ไทย และไส้เดือนดินทั้ง 2 สายพันธุ์ ใช้เวลาในการย่อยเศษผลไม้ได้รวดเร็วที่สุด และใช้เวลาในการย่อยเศษอาหารและเศษผักใกล้เคียงกัน

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเป็นพิษต่อไส้เดือนดิน
          ในการเลี้ยงไส้เดือนดิน เพื่อการผลิตปุ๋ยจากมูลไส้เดือน เกษตรกรควรต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตของไส้เดือนดินด้วย เพื่อใช้ในการตรวจสอบและเฝ้าระวังในการนำอาหารมาให้ไส้เดือนย่อยสลาย ซึ่งสารเคมีที่เป็นพิษต่อชีวิตไส้เดือนดิน ได้แก่ อัลดิคาร์ป,เบนโนมิล,บีเอชซี,คาร์บาริล,คาร์โบฟูราน,คลอร์เดน,เอนดริน,เฮบตาคลอร์,มาลาไธออน,พาราไธออน เป็นต้น


รูปแบบที่เหมาะสมในการเลี้ยงไส้เดือนดินกำจัดขยะ/ผลิตปุ๋ยหมัก
1. การกำจัดขยะเพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในระดับครัวเรือน (แบบหลังบ้าน)

2. การกำจัดขยะเพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในระดับชุมชน (แบบโรงเรือน)

การเตรียมโรงเรือนผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน
          การเลี้ยงไส้เดือนดินในโรงเรือนควรมีการเตรียมโรงเรือนเพื่อการจัดการขยะและการผลิตปุ๋ยหมักไว้ให้เป็นสัดส่วน ดังนี้

          1. โรงเรือนกำจัดขยะเพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ต้องมีหลังคากันฝนและพรางแสง เนื่องจากไส้เดือนดินไม่ชอบแสงสว่าง ในบริเวณบ่อเลี้ยงต้องมีตาข่ายปิดด้านบน หรือใช้ตาข่ายกั้นบริเวณด้านข้างรอบโรงเรือนเพื่อป้องกันศัตรูของไส้เดือน

          2. บ่อเลี้ยงไส้เดือน ควรจัดทำเป็นบ่อซีเมนต์ ให้มีความกว้าง ประมาณ 1 เมตร ความยาวแล้วแต่ความต้องกาของผู้เลี้ยง และ มีความลึกไม่เกิน 0.5 เมตร โดยบ่อนี้จะใช้เป็นบ่อเลี้ยงไส้เดือนดิน เพื่อการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน จากวัสดุอินทรีย์ได้ดีและสะดวกในการจัดการของตัวผู้เลี้ยงเองด้วย

          3. บ่อเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน ควรก่อสร้างบริเวณด้านข้างโรงเรือนหรือด้านหลังโรงเรือ เพื่อให้น้ำหมักจากบ่อเลี้ยงไส้เดือนไหลเข้าไปเก็บไว้ในบ่อเก็บน้ำหมักได้ง่าย ซึ่งขนาดของบ่อเก็บน้ำหมักจะมีขนาดเล็กกว่าบ่อเลี้ยงไส้เดือน โดยผู้เลี้ยงสามารถปรับขนาดได้ตามความเหมาะสมของปริมาณน้ำหมักที่คาดว่าจะได้รับ

          4. การเตรียมวัสดุรองพื้นเพื่อเป็นที่อาศัยของไส้เดือนดิน ควรใช้วัสดุอินทรีย์สด เป็นวัสดุรองพื้นหนาประมาณ 6 นิ้ว โดยเน้นส่วนที่เป็นผักสีเขียว วัชพืช ขยะสดโดยจะใช้ปุ๋ยคอกโรยบนหน้า ให้หนาประมาณ 2 นิ้ว โรยปูนขาวให้ทั่วบริเวณ แล้วจึงให้ความชื้นเล็กน้อยประมาณ 20% ของน้ำหนักขยะสดหรือให้เปียกชุ่มแต่ไม่ให้มีน้ำ(หมาดๆ) แช่ขังทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จะพบว่าเกิดขบวนการหมัก สังเกตได้โดยมีความร้อนที่สูงขึ้น จากนั้นให้ทิ้งไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ ความร้อนที่เกิดขึ้นก็จะหายไปหรืออาจจะเร็วกว่านี้ ถ้ามีการหมักในกองที่มีความหนาน้อยกว่าที่กำหนดไว้ การหมักที่สมบูรณ์จะทำวัสดุมีสีเข้มจนเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะร่วนซุยไม่มีกลิ่นเหม็น

          5. การเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนดิน เมื่อวัสดุที่หมักมีลักษณะสมบูรณ์และหมดความร้อนสะสมในกองแล้ว เกษตรกร ควรเตรียมจำนวนไส้เดือนดินในอัตรา อย่างน้อย 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร เพื่อปล่อยเลี้ยงในกองวัสดุที่เตรียมได้จากข้อ 4 ซึ่งในการเลี้ยงไส้เดือนดินจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ไส้เดือนดินก็สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และ ทวีจำนวนมากขึ้นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

          6. ปริมาณอาหารที่ให้ไส้เดือน โดยปกติไส้เดือนดินชอบอาหารที่มีโปรตีนสูง รวมถึงในดินที่มีอินทรียวัตถุจำนวนมาก จากการทดลองเลี้ยงไส้เดือนดินในสภาพโรงเรือน พบว่า ไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย Pheretima peguana และ Pheretima posthuma จะกินอาหารเฉลี่ย 120-150 มก./น้ำหนักตัว 1 กรัมต่อวัน และ พบว่า ไส้เดือนดินสายพันธุ์ Lumbricus rubellus และ Eisenia foetida จะกินอาหารประมาณ 240-300 กรัมต่อวัน ต่อน้ำหนักไส้เดือน 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวน 2 เท่าของอาหารไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย

          7. การให้อาหารที่เป็นเศษอินทรียวัตถุกับไส้เดือนดินในบ่อเลี้ยง หากมีการนำขยะสดจากชุมชนมาใช้เลี้ยงไส้เดือนดิน เกษตรกรควรแยกวัสดุที่ไม่ย่อยสลายออกจากวัสดุที่ย่อยสลายได้โดยไส้เดือนดิน เช่น ถุงพลาสติกต่างๆ หรือ ของแข็งชิ้นใหญ่ๆ โดยปริมาณขยะสดที่เตรียมให้ไส้เดือนดิน ควรเตรียมการหมักให้เริ่มบูดเสียก่อน แล้วจึงนำมาใส่ในบ่อเลี้ยงไส้เดือน ให้มีความหนาไม่เกิน 10 เซนติเมตร เนื่องจากถ้าหนามากกว่านี้ จะทำให้เกิดความร้อนสะสมและส่งผลกระทบต่อชีวิตไส้เดือนดินได้

          8. การแยกตัวไส้เดือนออกจากปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน เป็นขั้นตอนที่ใช้ในการเก็บปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือน เพื่อลดความสูญเสียปริมาณของไส้เดือนดินในบ่อเลี้ยง สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้แสงไฟไล่ ใช้ตะแกรงร่อนด้วยมือ ในกรณีที่มีมูลไส้เดือนปริมาณน้อย และสามารถใช้เครื่องร่อนขนาดใหญ่ ทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ช่วยแยกไส้เดือนดินออกมาจากกองปุ๋ยหมักได้ ในกรณีที่มีปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินในปริมาณมาก


ปัญหาและการจัดการโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือนดิน
          1. ปัญหาเรื่องความร้อน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ซึ่งสามารถจัดการได้โดยการควบคุมความหนาของขยะที่ให้กลิ่น ซึ่งการจัดการสามารถใช้น้ำหมักมูลไส้เดือนในบ่อ หรือ ใช้กากน้ำตาลมารดเพิ่มปริมาณอาหารของจุลินทรีย์ธรรมชาติ เพื่อเร่งขบวนการย่อยสลายขยะ ก็สามารถกำจัดกลิ่นได้

          2. ปัญหาเรื่องบ่อเลี้ยงมีสภาพเป็นกรด เมื่อเลี้ยงไส้เดือนนานๆ ไป กองวัสดุที่ใช้เลี้ยงอาจมีสภาพความเป็นกรด ซึ่งจะส่งผลต่อการดำรงชีพของไส้เดือนดิน ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการใช้ปูนขาวโรยบางๆ บริเวณผิวดิน และรดน้ำตามเดือนละครั้ง เพื่อเจือจางสภาพความเป็นกรดในกองวัสดุที่ใช้เลี้ยง

          3. ปัญหาเรื่องแมลงศัตรูของไส้เดือนดิน มักพบว่ามี เป็ด,ไก่,นก,พังพอน,กบ,หนู และ งู เข้ามากินไส้เดือนดินเป็นอาหาร ทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ควรใช้วิธีการวางกับดักล่อ,ติดตั้งตาข่ายป้องกัน และ วิธีการอื่นๆ ตามความเหมาะสม

* * * * *

ทำเกษตรแล้วไม่มีที่ขาย ขายได้ที่
ตลาดกลาง "ซื้อ-ขาย สินค้าเกษตร"
ที่สมาชิกเยอะที่สุด
VV คลิก VV

แชร์...ตรงนี้  เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV
Powered by Blogger.