เมื่อปุ๋ยเคมี เป็นผู้ร้าย
ในยุคที่อาหารอินทรีย์กำลังเฟื่องฟู และได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ก็เลยทำให้เกษตรกรหลายรายพยายามหันมาใช้วิธีการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เท่านั้นยังไม่พอ การสนับสนุนด้านนโยบายจากรัฐ โดยการประกาศให้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ก็จึงเป็นแรงโหมให้กระแสเกษตรอินทรีย์มาแรงมากในขณะนี้ แต่คำถามก็คือ เมืองไทยพร้อมแค่ไหนสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ และชาวบ้านมีความเข้าใจเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มากน้อยเพียงใด แต่ที่น่ากลัวมากกว่านั้นก็คือ ภาครัฐที่คุมนโยบาย หรือปฏิบัติตามนโยบายเรื่องนี้ มีความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์มากน้อยเพียงใด
มามองเฉพาะเรื่องของการใช้ปุ๋ยอย่างเดียวก่อน ก็อย่างที่ทราบกันทั่วไปว่าปุ๋ยที่ใช้งานกันปัจจุบันเป็นหลักมีอยู่สองอย่างคือปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ แต่เดิมมานั้นมีการใช้ปุ๋ยเคมีกันอย่างมากมายมหาศาล แต่เป็นการใช้แบบไม่มีความรู้ หมายความว่าพ่อค้าปุ๋ยผลิตมาอย่างไรก็ใช้ไปอย่างนั้น และข้อสำคัญคือเชื่อร้านค้ามากกว่านักวิชาการ ในที่สุด ดินหลายแห่งก็เสื่อมโทรมลง เพราะว่าธาตุอาหารจากปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินเกิดเป็นพิษขึ้นมาเพราะว่าใส่ธาตุบางตัวมากเกินไปจนเกินความต้องการของต้นไม้ ซึ่งมีให้เห็นเป็นประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวนผลไม้ แต่ว่าตอนนี้เรากำลังกลับลำเต็มตัว หมายความว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐกำลังสนับสนุนให้เกษตรกรเลิกใช้ปุ๋ยเคมีแล้วหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน
ความจริงแนวคิดเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าเท่าที่ผ่านมาเราใช้ปุ๋ยเคมีกันจนเกินความจำเป็น หรือใช้ไม่ถูกต้องตามที่ควรเป็น ผลก็คือ ระยะหลังมานี้ การใช้ปุ๋ยเคมีบางทีก็ไม่ได้ผลสมตามที่คาดหวัง เพราะว่าดินเสียสภาพเนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีที่ผิดติดต่อกันมานานนั่นเอง แต่เมื่อมาคิดอีกทีหนึ่ง เรื่องนี้ก็น่าจะได้รับการทบทวนและตั้งหลักคิดให้ดี ๆ ก่อนที่จะสายเกินไป นั่นคือ บทบาทหน้าที่ของปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์นั้น แตกต่างกัน และอาจพูดได้ว่าไม่น่าใช้ทดแทนกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ปุ๋ยเคมีนั้น อุดมไปด้วยธาตุอาหารในปริมาณสูง ซึ่งตอบสนองความต้องการของต้นไม้ได้เร็ว ในขณะเดียวกันเมื่อใช้ติดต่อกันก็จะทำให้ดินเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นดินเปรี้ยว ดินแน่น และมีเนื้อปุ๋ยบางตัวตกค้างในดินมากจนเกิดผลเสียได้ ถ้าการใช้ไม่ถูกต้อง ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารหลักน้อยมาก แต่ว่ามีคุณสมบัติอื่นที่น่าใช้มาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในดิน ทำให้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์เติบโตได้ และค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาให้ต้นไม้ต่อเนื่องยาวนาน และความที่เป็นสารอินทรีย์ก็เลยทำให้ดินร่วนซุย ระบายน้ำง่ายขึ้น อุ้มน้ำได้ดี และอากาศผ่านเข้าออกสะดวกสบาย ซึ่งพูดง่าย ๆ เปรียบปุ๋ยอินทรีย์เหมือนสภาพที่อยู่อาศัยของต้นไม้ ถ้าปลอดโปร่งโล่งสบาย ต้นไม้ก็มีสุขภาพดี ในขณะที่ปุ๋ยเคมีเป็นเสมือนอาหาร ที่ช่วยให้เติบโตได้เป็นปกติ ดังนั้น โดยหลักวิชาการแล้ว ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ต้องใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสม จึงจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรดินเพื่อการเพาะปลูก
สิ่งที่ผมกังวลอยู่ตอนนี้ก็คือ การพัฒนาที่ไม่ยืนอยู่บนทางสายกลาง มีความพยายามทางด้านนโยบายที่จะผลักดันให้เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี หรือบางแห่งร้ายแรงขนาดที่ห้ามพูดห้ามเอ่ยถึงปุ๋ยเคมีให้ได้ยินเลยก็เคยมีมาแล้ว สิ่งที่อยากถามก็คือ บรรดาผู้ที่วางนโยบายเหล่านี้มีความเข้าใจเรื่องปุ๋ยมากน้อยเพียงใด และถ้าเกิดผลเสียในระยะยาวขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ เพราะว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ อะไรก็ตามที่มันมากเกินไปจนเบ้ไปด้านหนึ่ง ไม่เคยก่อให้เกิดผลดี ตัวอย่างเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวมีผลเสียอย่างไรก็ปรากฏให้เห็นแล้ว และก็แน่นอนว่า ถ้าใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์เพียงอย่างเดียว ก็เตรียมรับผลเสียที่จะเกิดขึ้นไว้ได้เลย
ข้อแนะนำที่อยากให้ไว้ตอนนี้ก็คือ อย่ามองว่าปุ๋ยเคมีเป็นผู้ร้าย เพราะว่าถ้าเรารู้จักใช้ และใช้ให้ถูกต้องตามความต้องการของต้นไม้ ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมความสำคัญของปุ๋ยอินทรีย์ แต่อย่าหยิบยกมาเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ข้อสำคัญคือ ควรยึดหลักทางสายกลางครับ
* * * * *
โดย : พีรเดช ทองอำไพ
ทำเกษตรแล้วไม่มีที่ขาย ขายได้ที่
ตลาดกลาง "ซื้อ-ขาย สินค้าเกษตร"
ที่สมาชิกเยอะที่สุด
ตลาดกลาง "ซื้อ-ขาย สินค้าเกษตร"
ที่สมาชิกเยอะที่สุด
VV คลิก VV
กลุ่มเฟซบุ๊ก : ตลาดกลาง ซื้อ-ขายสินค้า เกษตร
แชร์...ตรงนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV