ทำหมันต้นมะพร้าวกะทิ เพื่อกะทิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์
“มะพร้าว” ยังคงเป็นพระเอกที่ไม่เป็นรองในตลาดการค้าภาคเกษตร ยิ่งเมื่อแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ประสบวิกฤตขั้นรุนแรงจากแมลงศัตรูมะพร้าวที่ระบาดหนัก ความหวังเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับระดับความต้องการ เพื่อผลต่อเนื่องในราคามะพร้าวที่ลดลงจึงเป็นความต้องการยิ่งในตลาด
แรงขับเคลื่อนในภาคกระตุ้นเกษตรกรสวนมะพร้าวให้หันกลับมาฟื้นฟูสวน ยังคงเป็นงานหลักของกรมวิชาการเกษตรที่ไม่หยุดนิ่ง ขณะที่อีกด้านเป็นงานวิจัยมะพร้าวกะทิเพื่อเกษตรกรไทย ยังเดินหน้าตามเป้าหมายการผลิตมะพร้าวกะทิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างต่อเนื่อง
งานวิจัยมะพร้าว เป็นหนึ่งในงานวิจัยเด่นของศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอสวี และใช้พื้นที่ภายในศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแปลงทดลองวิจัยมะพร้าวกะทิ
งานวิจัยมะพร้าวกะทิ มีหัวหน้าโครงการ คือ คุณสมชาย วัฒนโยธิน จากสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร และมี คุณปริญาดา หรูนหีม รับผิดชอบโดยตรงในปัจจุบัน
เริ่มจากการคัดเลือกมะพร้าว 5 สายพันธุ์ ที่มีลักษณะเด่นนำมาผสมกับเกสรของมะพร้าวกะทิ และพบว่าคู่ผสมของมะพร้าวน้ำหอมxกะทิ และ มะพร้าวมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยxกะทิ มีลักษณะดีเด่นที่สามารถให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิ 25 เปอร์เซ็นต์ หมายถึง ผลผลิตมะพร้าว 100 ผล ต่อต้น จะมีมะพร้าวที่เป็นกะทิ 25 ผล ทั้ง 2 สายพันธุ์ จึงเป็นสายพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร มีเกษตรกรสนใจกันล้นหลาม
ส่งผลให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยเดิม จากงานวิจัยมะพร้าวกะทิที่ให้ผลผลิต 25 เปอร์เซ็นต์ คัดสายพันธุ์ให้ได้มะพร้าวกะทิลูกผสม 50 เปอร์เซ็นต์ และ 100 เปอร์เซ็นต์ ในอนาคตเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายมะพร้าวกะทิ เพราะปัจจุบันมะพร้าวกะทิยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่มาก
คุณปริญดา อธิบายว่า การเลือกสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมxกะทิ และมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยxกะทิ เป็นสายพันธุ์เด่นเพื่อสร้างมะพร้าวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมะพร้าวน้ำหอมกะทิจะมีโอกาสได้ผลผลิตเป็นทั้งมะพร้าวน้ำหอม และ มะพร้าวน้ำหอมกะทิ ซึ่งจากข้อมูลวิจัยที่เก็บได้คือ ได้มะพร้าวกะทิ 50 เปอร์เซ็นต์ หมายถึง ในจำนวน 100 ต้นที่ปลูก มีจำนวน 50 ต้น ที่ให้ผลเป็นกะทิและน้ำหอม แต่ใน 50 ต้น ผลของมะพร้าวที่จะได้จะเป็นกะทิและน้ำหอมไม่ครบทุกผล ส่วนมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยxกะทิ มีข้อดีตรงที่ให้ผลผลิตต่อปีสูง ประมาณ 1,800-1,900 ลูก ซึ่งเป็นข้อด้อยของมะพร้าวน้ำหอมกะทิที่ให้ผลผลิตต่ำต่อปีประมาณ 1,100-1,200 ลูก เท่านั้น
การเพิ่มผลผลิตให้เป็นกะทิ จาก 25 เปอร์เซ็นต์ ของสายพันธุ์เด่น ปัจจุบันคณะวิจัยสามารถเพิ่มผลผลิตที่เป็นมะพร้าวกะทิได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว และอยู่ระหว่างการทดลองให้ได้มะพร้าวกะทิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์
วิธีการทดลอง
เดิมใช้การคลุมจั่น เพื่อให้เกิดการผสมตัวเองและป้องกันไม่ให้เกสรจากต้นอื่นมาผสม วิธีนี้คุณปริญดา บอกว่า เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่มีข้อเสีย คือ การคลุมจั่นใช้ถุงผ้าใบ และเมื่อคลุมแล้วอุณหภูมิภายในถุงผ้าใบจะสูงขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การติดผลลดลง
“การทำให้ผลผลิตมะพร้าวเป็นกะทิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องป้องกันเกสรจากมะพร้าวต้นอื่น เพราะมะพร้าวกะทิเป็นลักษณะของยีนด้อย มะพร้าวอื่นเป็นยีนเด่น หากเกิดการผสมยีนด้อยจะถูกข่มโดยยีนเด่นทันที”
ปัจจุบัน คณะวิจัยมีวิธีการทดลองผสมเกสรให้ได้มะพร้าวกะทิ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ใช้วิธีการคลุมจั่น แต่เลือกวิธีการปลิดดอกตัวผู้ทิ้งให้หมด เหลือเฉพาะดอกตัวเมีย นำดอกตัวผู้ไปเก็บเกสรแล้วนำเกสรกลับมาป้ายดอกตัวเมีย ต้นไหนต้นนั้น เรียกวิธีการผสมแบบนี้ว่า “การทำหมัน”
หลังการปลิดดอกตัวผู้ออก คณะผู้วิจัยจะบันทึก โดยปกติดอกตัวเมียจะบานประมาณ 14 วัน หลังออกจั่น แต่หากดอกตัวเมียเริ่มบานก่อน 14 วัน จะนำเกสรตัวผู้ที่นำได้จากการผลิตมาป้ายที่ดอกตัวเมียได้ทันที และนำเกสรตัวผู้มาป้ายที่ดอกตัวเมียติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ในระหว่างที่จั่นบาน ซึ่งธรรมชาติของมะพร้าวจั่นจะบานจากบนลงล่าง และหากดอกตัวเมียไม่ได้รับการผสมหลังจั่นบานภายใน 3 วันจะร่วง
“เกษตรกรที่สนใจปลูกต้องทำตามขั้นตอนนี้ด้วย เพราะถ้าเริ่มต้นปลูกจากลูกผสมมะพร้าวกะทิ 25 เปอร์เซ็นต์ การป้ายเกสรตัวผู้ที่ดอกตัวเมียลักษณะนี้แน่นอนว่าจะเพิ่มผลผลิตมะพร้าวกะทิเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการทำให้ได้มะพร้าวกะทิแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลและการวิจัยในภาคสนาม ซึ่งยังเป็นความหวังของสถาบันวิจัยพืชสวน และ กรมวิชาการเกษตร ที่ต้องการสร้างพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กะทิ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรนำไปผลิตเป็นมะพร้าวกะทิเพิ่มขึ้น” คุณปริญดา กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสอบถามได้ที่ คุณปริญดา หรูนหีม โทร. (081) 472-2647
ความโดดเด่นของ 2 สายพันธุ์ มีดังนี้
1. มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ ระหว่างมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยxกะทิ (YDK) เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุด จำนวน 3,378 ผล/ไร่/3 ปีแรก คิดเป็นรายได้ 28,008 บาท/ไร่/3 ปีแรก มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต/ไร่ ให้สูงขึ้นเป็น 34,002 บาท/ไร่/3 ปีแรก โดยเลือกแหล่งที่ปลูกให้ปลอดจากมะพร้าวธรรมดา และให้มีรายได้สูงขึ้นเป็น 55,737 บาท/ไร่/3 ปีแรก โดยใช้เทคโนโลยีในการทำหมันและช่วยผสมพันธุ์มะพร้าวด้วยละอองเกสรมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์มะพร้าวดังกล่าวจึงสามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ในปี 2550
2. มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ ระหว่างพันธุ์น้ำหอมxกะทิ (NHK) ให้มะพร้าวลูกผสมกะทิที่ให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอมทั้งน้ำและเนื้อ จำนวน 55 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนต้นที่ปลูก ต้นมะพร้าวลูกผสมกะทิจำนวนดังกล่าวสามารถใช้พัฒนาพันธุ์มะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ย โดยใช้เทคนิคการผสมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงคัพภะมะพร้าว ในเบื้องต้นพันธุ์คู่ผสมระหว่างน้ำหอมxกะทิ สามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรได้อีก 1 พันธุ์
หมายเหตุ : ลูกผสมทั้ง 2 สายพันธุ์ เมื่อนำไปปลูกจะให้ผลที่เป็นกะทิ ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีการควบคุมเกสรจะให้ผลผลิตที่มากขึ้น
* * * * *
ที่มา : http://www.matichon.co.th
ทำเกษตรแล้วไม่มีที่ขาย ขายได้ที่
ตลาดกลาง "ซื้อ-ขาย สินค้าเกษตร"
ที่สมาชิกเยอะที่สุด
ตลาดกลาง "ซื้อ-ขาย สินค้าเกษตร"
ที่สมาชิกเยอะที่สุด
VV คลิก VV
กลุ่มเฟซบุ๊ก : ตลาดกลาง ซื้อ-ขายสินค้า เกษตร
แชร์...ตรงนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV