การเลี้ยงตั๊กแตนขายเป็นอาชีพ รายได้งาม
การเพาะเลี้ยงตั๊กแตน ผลงานเพื่อเกษตรกรของภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันมีนักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญ ประกอบด้วย อาจารย์ทัศนีย์ แจ่มจรรยาและ อาจารย์ชาญชัย ถาวรอนุกูลกิจ อาจารย์ทั้งสองท่านและทีมงานได้เห็นความสำคัญของการนำแมลงที่กินได้ที่มีอยู่ในธรรมชาติมาทำการศึกษาเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพของเกษตรกรและผู้สนใจ จากระยะเวลาที่ผ่านมาภาควิชากีฏวิทยา ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อการเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพของเกษตรกรมากมายหลายชนิด และในปีงบประมาณ 2547 นี้ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการฝึกอบรมเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงแมลงกิน อันประกอบด้วย แมลงดานา จิ้งหรีดและตั๊กแตน เป็นเวลา 1 วัน แก่ผู้สนใจ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการความรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ สามารถแจ้งความจำนงเพื่อขอเข้ารับการอบรมได้ทุกวันในเวลาราชการที่ อาจารย์ชาญชัย ถาวรอนุกูลกิจ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 40002 โทร. (043) 362-108 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
อาจารย์ทัศนีย์และอาจารย์ชาญชัย ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงตั๊กแตนว่า ในบรรดาแมลงกินได้ ตั๊กแตนหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กุ้งฟ้า ได้รับความนิยมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44.91 สำหรับผู้ขายได้แยกชนิดแมลงออกเป็น 3 กลุ่ม ตามความนิยมของลูกค้า โดยในกลุ่มแรกจะมีตั๊กแตน รถด่วน ดักแด้หนอนไหม กลุ่มที่สอง เป็นแมลงกระชอน จิ้งหรีด แมลงตับเต่า หนอนไหม จิโป่ม ส่วนกลุ่มที่สามเป็นแมงกินูน กุดจี่ จักจั่น การกินแมลงนอกจากจะได้รสชาติแล้ว ยังได้คุณค่าทางอาหาร โดยตั๊กแตนมีโปรตีน 16-25 เปอร์เซ็นต์ (น้ำหนักสด) ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของตั๊กแตน : ตั๊กแตนหนวดสั้น อยู่ในวงศ์ Acrididae อันดับ Orthoptera มีหนวดสั้นกว่าลำตัว สันหลังอกปล้องแรกเป็นแผ่นคล้ายอานม้า ขาคู่หลังมีขนาดใหญ่เหมาะกับการกระโดด ด้านใน femur ของขาคู่หลังมีตุ่มเล็ก ๆ การทำเสียงโดยใช้ตุ่มเล็ก ๆ ที่เรียงอยู่ด้านใน femur ของขาคู่หลังถูหรือสีกับขอบล่างของปีกคู่หน้า ด้านข้างของท้องปล้องแรกมีอวัยวะฟังเสียง ลักษณะเป็นเยื่อบาง ๆ ปีกคู่หน้าหนาคล้ายแผ่นหนัง ปีกคู่หลังเป็นแผ่นบางกว้างพับซ้อน อยู่ใต้ปีกคู่หน้า เพศเมียมีอวัยวะวางไข่สั้น 2 คู่ อยู่ที่ปลายท้อง วงจรชีวิตของตั๊กแตนมี 3 ระยะ คือ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย การวางไข่จะวางไข่บนดิน สำหรับตั๊กแตนลาย หรือที่ภาษาท้องถิ่นทางภาคอีสานเรียกว่า ตั๊กแตนข้าวสาร โดยธรรมชาติชอบอาศัยหากินในพืช เช่น ถั่วเหลือง ฝ้าย ละหุ่ง ข้าวโพด วงจรชีวิต ระยะไข่ 32-120 วัน ระยะตัวอ่อน 94 -124 วัน มีการลอกคราบ 7-8 ครั้ง ตัวเต็มวัยเพศเมียอายุ 61.8 วัน ตัวเต็มวัยเพศผู้ อายุ 38 วัน
วิธีการเลี้ยงตั๊กแตน
1. สถานที่และกรงเลี้ยงสถานที่ควรเป็นที่ร่มมีหลังคากันแดดและฝน มีแสงแดดส่องถึงช่วงตอนเช้าหรือตอนบ่าย สำหรับกรงเลี้ยงมี 2 แบบ คือ
- กรงมุ้งไนลอน ขนาดความกว้าง x ยาว x สูง = 25 x 35 x 25 เซนติเมตร ทำโดยใช้ลวดขนาด 2 หุน ตัดทำเป็นโครงสี่เหลี่ยมแล้วประกอบเข้าด้วยกันใช้สายยางสีขาวใสขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร สามารถถอดเข้าออกได้ มีมุ้งผ้าขาวบางหุ้มปล่อยชายผ้าไว้ด้านหน้ากรงสำหรับเปิดปิด วางกรงลวดในถาดเพื่อความสะดวกในการยก ปูกระดาษที่พื้นในกรง เปลี่ยนกระดาษทุกวันเพื่อไม่ให้มูลหมักหมม ในกรงมีกระบอกน้ำโดยใช้ขวดน้ำขนาด 1-1.5 ลิตร ที่ตัดคอออก สำหรับใส่ต้นแครดไว้เป็นอาหารของตั๊กแตน ล้างทำความสะอาดกระบอกน้ำทุกวันตอนเปลี่ยนอาหาร สำหรับอาหารเสริมใช้รำข้าวสาลีใส่จานพลาสติกเล็ก ๆ กรงขนาดใหญ่เลี้ยงตั๊กแตนวัยอ่อนคือ วัย 1-วัย 5 ได้ประมาณ 300 ตัว อย่างก็ไรตาม เราสามารถเลี้ยงตั๊กแตนจนเป็นตัวเต็มวัยในกรงดังกล่าว วางกรงบนชั้นเพื่อประหยัดเนื้อที่ เมื่อตั๊กแตนเข้าวัย 5 หรือเมื่ออายุประมาณ 1 เดือน ลดจำนวนตัวลงครึ่งหนึ่งเพื่อไม่ให้แออัดเกินไป
- กรงมุ้งลวด โครงเป็นอะลูมิเนียมขนาดกรง กว้างx ยาว x สูง = 60 x 60 x 100 เซนติเมตร ขากรงสูง 15 เซนติเมตร บุกรงด้วยมุ้งลวด ประตูด้านหน้ามี 2 ตอน คือ ครึ่งหนึ่งของด้านบนเป็นประตูบุลวดมีหูจับ ส่วนครึ่งล่างเป็นประตูทึบเพื่อป้องกันไม่ให้ตั๊กแตนออกขณะเปิดปิด พื้นกรงปูด้วยตะแกรงลวดตาข่ายและมีลิ้นชักความสูง 10 เซนติเมตร ถอดเข้าออกได้ เพื่อรองรับมูลของตั๊กแตนและง่ายต่อการดึงออกมาทำความสะอาด ด้านบนของกรงทำให้ถอดบานมุ้งลวดออกได้ กระบอกน้ำใส่พืชอาหาร และภาชนะใส่อาหารเสริมเหมือนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น กรงมุ้งลวดนี้ไว้ใช้เลี้ยงตั๊กแตนตั้งแต่วัย 5 ขึ้นไป กรงละประมาณ 2,000-2,500 ตัว โดยตอนแรกอาจจะเลี้ยงตั๊กแตนวัยอ่อนในกรงมุ้งไนลอน
2. การจัดการ
2.1 การให้อาหาร เปลี่ยนต้นแครดทุกวัน โดยเคาะต้นพืชในกระบอกน้ำเพื่อไล่ตั๊กแตนออก ใช้ต้นแครดสดเพื่อให้ตั๊กแตนกินได้มากขึ้นหลังจากวัย 5 ต้องให้อาหารวันละ 2 ครั้ง อาหารเสริมให้รำข้าวสาลีวันละครั้ง ส่วนการให้น้ำ ใช้จานกระเบื้องดินเผาใส่ก้อนหินกันไม่ให้ตั๊กแตนตกน้ำ
2.2 การทำความสะอาด
- การถ่ายมูลตั๊กแตน ในกรงมุ้งไนลอนเปลี่ยนกระดาษที่ปูพื้นกรงทุกวัน ส่วนในกรงมุ้งลวดดึงลิ้นชักที่รองรับมูลออกมาล้างทุกวัน
- ล้างทำความสะอาดกระบอกที่ใส่ต้นพืชและจานใส่น้ำทุกวัน
2.3 การป้องกันศัตรูของตั๊กแตน ศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ มด ซึ่งจะเข้ามากินไข่และซากตั๊กแตนหรือตัวที่ลอกคราบใหม่ ๆ ซึ่งไม่แข็งแรง การป้องกันโดยใช้ชอล์กกันมดและการดูแลความสะอาด ถ้าเป็นกรงมุ้งลวดระวังอย่าให้มีเศษหญ้าตกหล่นพาดถึงพื้นอันจะเป็นสะพานให้มดเข้าไปในกรง ศัตรูอื่น ๆ ได้แก่ แมงมุม จิ้งเหลน กิ้งก่า และหนู
2.4 การคัดพ่อแม่พันธุ์และการขยายพันธุ์ เลือกตัวที่มีขนาดใหญ่มีความสมบูรณ์แข็งแรง ใส่กรงให้ผสมพันธุ์ ควรมีการผสมข้ามกรงกันบ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการเสื่อมถอยอันเกิดจากการผสมเลือดชิด ภาชนะวางไข่ใช้ขวดน้ำอัดลมขนาด 1.25 ลิตร ตัดเอาแต่ก้นขวดที่มีความสูง 10 เซนติเมตร ใส่ดินร่วนปนทราย ให้น้ำพอชื้น ๆ เมื่อตั๊กแตนวางไข่นำขวดดินที่มีไข่แยกออกมา ตั๊กแตนลายมีการผสม 9-15 ครั้ง วางไข่ 3-4 ครั้ง
2.5 การเลี้ยงตั๊กแตนวัยอ่อนและหลังวัยอ่อน คือวัย 1-ต้นวัย 5 ในกรงมุ้งไนลอน ใช้เวลาประมาณ 35 วัน เมื่อเข้าวัย 5 ซึ่งจะสังเกตจากแผ่นอานม้าที่สันหลังอกขอบหลังแหลมรูปตัว V มีสีเหลืองนวลหรือสีเงินคาด หน้าแถบสีมีจุดดำเรียงเป็นแนว แล้วถ้าจะเลี้ยงในกรงมุ้งไนลอนต่อไปโดยจะต้องลดจำนวนลงเหลือเพียงครึ่งเดียวจากที่เลี้ยงในตอนแรก หรือจะย้ายเข้ากรงมุ้งลวดเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 17-26 วัน ตั๊กแตนจะลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อนเพศผู้มี 6 วัย ใช้เวลาน้อยกว่าเพศเมีย คือ ประมาณ 53 วัน ส่วนตัวอ่อนเพศเมียมี 7 วัย ใช้เวลา 61.8 วัน จึงจะเจริญเป็นตัวเต็มวัย
2.6 การเก็บตั๊กแตนออกจำหน่าย เมื่อตุ่มปีกของตัวอ่อนเจริญมาชนกันที่สันหลังกลางลำตัวยาวคลุมถึงส่วนท้องปล้องที่ 3 แสดงว่า เป็นวัยสุดท้ายก่อนลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัย เมื่อเป็นตัวเต็มวัยเก็บตั๊กแตนในถุงสีฟ้า การจับตั๊กแตนให้รวบโคนขาคู่หลังเข้าด้วยกัน เนื่องจากเมื่อตั๊กแตนถูกรบกวนจะป้องกันตัว โดยดีดขาคู่หลังที่มีหนามเรียงเป็นแถว ทำให้เจ็บปวดได้
การเลี้ยงตั๊กแตนลายพบว่า มีการรอดชีวิตต่ำเพียง 33.75 เปอร์เซ็นต์ ตั๊กแตนอ่อนแอ โดยเฉพาะในช่วงวัยแรก ๆ การให้รำข้าวสาลีเป็นอาหารเสริมและการเลี้ยงในฤดูฝนทำให้การรอดชีวิตสูงขึ้นประมาณ 51.2 เปอร์เซ็นต์ จากการเลี้ยงตั๊กแตนลายที่ฟักจากไข่เวลาต่างกันจำนวน 5 รุ่น โดยใช้ต้นแครดและเสริมด้วยรำข้าวสาลี พบว่าการตายลดลง คือ มีการรอดชีวิตจนเป็นตัวเต็มวัย 35.67-66.37 เปอร์เซ็นต์ หรือโดยเฉลี่ย 51.2 เปอร์เซ็นต์
ตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงตั๊กแตน
เกษตรกรชาวจีนชานกรุงปักกิ่งประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงตั๊กแตนส่งร้านอาหาร ทำรายได้มหาศาลเป็นแบบอย่างให้เพื่อนบ้านที่เคยมองธุรกิจนี้ด้วยสายตาที่หวาดระแวงหันมาทำตาม
หลี่ ซูฉี เกษตรกรชาวจีน วัย 61 ปี ยอมรับว่า เพื่อนบ้านไม่ค่อยพอใจนักกับธุรกิจของเขา พวกเขาคอยจับตามองฟาร์มเลี้ยงตั๊กแตนและหมั่นตรวจสอบตาข่ายล้อมรั้วเพื่อป้องกันตั๊กแตนบินหนี แต่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับจากเพื่อนบ้าน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่หันมาทำฟาร์มตั๊กแตนตามอย่างเขา
นายหลี่ บอกว่า เงินลงทุน 2 แสนหยวน (ราว 1 ล้านบาท) ได้กลับคืนมาหมดแล้ว จึงเตรียมขยายกิจการสร้างเรือนเลี้ยงตั๊กแตนอีก 5 หลังในปีนี้ วิธีการเลี้ยงก็ง่ายมาก เพียงแต่นำไข่ของตั๊กแตนไปวางไว้ในเรือนเพาะเลี้ยง หลังจากนั้นก็นำหญ้ามาใส่เป็นอาหาร และรอเวลา 75 วันเพื่อจับตั๊กแตนโตเต็มวัยออกมาขายร้านอาหาร ซึ่งมีคนชมว่าตั๊กแตนของเขามีรสชาติอร่อย
นายหลี่ บอกว่า การจับตั๊กแตนเป็นงานยาก เขาต้องระดมสมาชิกในครอบครัว 4 คนมาช่วยกันจับตั๊กแตนให้ได้น้ำหนัก 220 กิโลกรัม ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมง
* * * * *
เลี้ยงตั๊กแตนแล้วไม่มีที่ขาย ขายได้ที่
ตลาดกลาง "ซื้อ-ขาย สินค้าเกษตร"
ที่สมาชิกเยอะที่สุด
ตลาดกลาง "ซื้อ-ขาย สินค้าเกษตร"
ที่สมาชิกเยอะที่สุด
VV คลิก VV
กลุ่มเฟซบุ๊ก : ตลาดกลาง ซื้อ-ขายสินค้า เกษตร
แชร์...ตรงนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV