Header Ads

Breaking News
recent

เทคนิคการเพาะพันธุ์กบ ให้ได้ลูกกบสุขภาพดี มีอัตราการรอดตายสูง


          การเพาะพันธุ์กบให้ได้ลูกกบสุขภาพดี มีอัตราการรอดตายสูง เทคนิคดีๆจากคุณทองจันทร์ พรจันทร์ เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงและการขยายพันธุ์กบชาวจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ซึ่งยึดอาชีพเลี้ยงกบมากว่า 15 ปี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกบหนองปลาคูณ ที่ ต.ตาโกน อ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ

          คุณทองจันทร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการขยายพันธุ์กบนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่จะสบปัญหาได้ลูกกบน้อย และเลี้ยงไม่ค่อยรอด เนื่องจากการขาดการดูแลจัดการที่ดี ดังนั้น เกษตรกรที่สนใจอาชีพการเลี้ยงกบ และอยากขยายพันธุ์กบให้ได้ลูกกบสุขภาพดี มีอัตราการรอดตายสูง ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้


การคัดเลือกกบพ่อ-แม่พันธุ์ 
          กบที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ ควรมีลักษณะดังนี้ คือ
1. มีรูปร่างสมส่วนตรงตามสายพันธุ์

2. ไม่มีบาดแผลตามลำตัว

3. มีน้ำหนัก 500-700 กรัม

4. มีอายุ 1 ปีขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่กบแม่พันธุ์มีไข่แก่ และกบพ่อพันธุ์มีน้ำเชื้อดีสมบูรณ์ แข็งแรง

การเตรียมบ่อผสมพันธุ์กบ 
          - ขุดบ่อขนาด 3x3 เมตร ลึก 4 นิ้ว จากนั้นปูด้วยพลาสติกรองพื้นบ่อปลา ใส่น้ำสูงประมาณ 5-7 ซม. บ่อขนาดดังกล่าวสามารถปล่อยกบพ่อ-แม่พันธุ์ที่พร้อมผสม ได้ประมาณ 5 คู่/บ่อ

          - รอบๆบ่อเลี้ยงกบ ควรทำตาข่ายตาถี่ล้อมรอบ เพื่อป้องกันกบกระโดดหนี และไม่ให้ศัตรูของกบเข้ามาทำร้ายหรือกินลูกกบ เช่น สุนัข แมว นก หนู เป็นต้น

การผสมพันธุ์กบ 
          งดให้อาหารกบพ่อ-แม่พันธุ์ที่พร้อมผสมตั้งแต่ช่วงเช้า จากนั้นปล่อยกบลงในบ่อที่เตรียมไว้ในช่วงเย็น(เวลาประมาณ 17.00 น.) ในตอนเช้าเวลาประมาณ 07.00 น. จะสังเกตเห็นไข่กบเกิดขึ้นมากมาย ให้จับกบพ่อ-แม่พันธุ์ออกจากบ่อผสมพันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้กบกินไข่ตัวเอง จากนั้นทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง (เวลาประมาณ 07.00 น.ของอีกวัน) กบจะฟักออกเป็นตัว เรียกว่า ลูกอ๊อด หรือ ลูกกบ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับลูกปลา


การอนุบาลลูกกบวัยอ่อน 
          - หลังจากไข่กบฟักออกเป็นลูกอ๊อดแล้ว ช่วง 2 วันแรก ไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกอ๊อดยังใช้ไข่แดงที่ติดมาเลี้ยงตัวเอง หลังจากนั้นให้ไข่แดงต้มสุกบดละเอียดเป็นอาหารวันละ 3 ฟอง/ต่อลูกอ๊อด 1 ครอก

          - เมื่อกบฟักออกจากไข่ประมาณ 1-2 อาทิตย์ จะมีขาหลัง 2 ขาโผล่ออกมาจากส่วนท้ายของลำตัวบริเวณโคนขา เมื่อขาหลังเจริญเต็มที่ก็จะมีขาหน้าโผล่ออกมาอีกทั้ง 2 ข้างของช่องเหงือกทางด้านหน้าของลำตัว หางจะเริ่มหดสั้นลง ปากจะเริ่มสมบูรณ์ขึ้น สามารถกินอาหารได้เช่นเดียวกับกบตัวโต อาหารที่ให้ระยะนี้จะเป็น อาหารที่เคลื่อนไหวได้ เช่น กุ้ง ลูกปลา หนอนแมลงขนาดเล็ก แต่ถ้าไม่สามารถหาอาหารดังกล่าวได้ก็ให้อาหารพวกเครื่องในสับ เศษปลาสับ โดยนำมาผสมกับอาหารเม็ดสำหรับกบเล็ก หรืออาหารปลาดุกเล็ก จะทำให้ลูกกบเจริญเติบโตเร็ว และช่วยประหยัดต้นทุนค่าอาหารเม็ดได้อีกด้วย (ให้จนลูกกบอายุ 1-1.5 เดือน)

การดูแลจัดการลูกกบ 
          - ลูกกบขนาดเล็ก อายุประมาณ 1 อาทิตย์ จะทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำ 3 วันครั้ง จากนั้นเมื่อลูกกบอายุประมาณ 2-3 อาทิตย์ จะเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยขึ้น คือประมาณ 2 วันครั้ง หรือสังเกตเห็นว่าน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นก็ทำการเปลี่ยนถ่ายได้เลย โดยเปลี่ยนถ่ายน้ำ 70 % ของจำนวนน้ำในบ่อทั้งหมด และหลังจากเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกครั้งให้ใส่จุลินทรีย์ EM ประมาณ 20-30 ซีซี/บ่อ เพื่อบำบัดน้ำเสีย และทำให้ลูกกบสุขภาพดี เจริญเติบโตเร็ว

          - ถ้าพบว่าลูกกบมีบาดแผล หรือเริ่มตายให้ใช้ฟ้าทะลายโจรตากแห้งบดละเอียดผสมอาหารให้กิน ในอัตรา ฟ้าทะลายโจร 10 กรัม/อาหาร 100 กิโลกรัม เพื่อรักษาโรคและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกบ (โดยส่วนใหญ่กบจะตายเนื่องจากได้รับเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ภายในบ่อ ซึ่งเกิดจากการสะสมของอาหารที่กินไม่หมด และการถ่ายมูลของกบ เมื่อกบได้กินน้ำและอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปก็จะทำให้ป่วยตาย)

การจำหน่าย 
          ลูกกบอายุ 1 เดือน หรือขนาดเท่านิ้วก้อยก็สามารถจับขายได้ โดยลูกกบในช่วงนี้จะขายในราคาตัวละ 1 บาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อ หรือเป็นเหยือตกปลา

          คุณทองจันทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเลี้ยงกบให้สุขภาพดี มีอัตราการรอดตายสูง และไม่มีปัญหาเรื่องโรคนั้น นอกจากต้องดูแลจัดการเรื่องความสะอาดของบ่อเป็นอย่างดีแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนสายพันธุ์กบทุกๆ 2 ปี โดยสลับเลี้ยงกบหลายๆสายพันธุ์ จะทำให้กบทนทานต่อโรค เลี้ยงง่าย โตเร็ว

* * * * *
โดย : คุณทองจันทร์ พรจันทร์, รักบ้านเกิด
แชร์...ตรงนี้  เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV
Powered by Blogger.