Header Ads

Breaking News
recent

เกษตรกรบางมูลนากปลูกดาวเรืองตัดดอก 1 ไร่ ได้กำไร 3-4 หมื่นบาท ต่อรุ่น


เกษตรกรบางมูลนากปลูกดาวเรืองตัดดอก 1 ไร่ ได้กำไร 3-4 หมื่นบาท ต่อรุ่น

          คุณบุญเรือง เพชรนา บ้านเลขที่ 37/1 หมู่ที่ 8 ตำบลบางไผ่ อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร โทร. (089) 641–0466, (085) 400–0571 เกษตรกรมือใหม่ที่ปลูกดาวเรืองเพื่อตัดดอก อธิบายว่า หลังย้ายกล้าปลูกลงแปลง เมื่อเห็นว่าต้นดาวเรืองมีใบจริง 4 คู่ ก็จะเด็ดยอดต้นดาวเรืองเพื่อสร้างทรงพุ่ม เหตุผลของการเด็ดยอด เนื่องมาจากความต้องการดอกในปริมาณที่มากกว่า

          ดังนั้น การเด็ดยอดจะเป็นการกระตุ้นการเกิดตาข้าง เพื่อเจริญเติบโตเป็นกิ่งและดอกต่อไป นอกจากนี้ยังจะได้ทรงพุ่มที่สวย ต้นไม่ล้มง่ายอีกด้วย สำหรับระยะที่เหมาะสมสำหรับการเด็ดยอดคือช่วงประมาณหลังย้ายปลูก 10-15 วัน หรือดูจากจำนวนใบและควรเด็ดให้ชิดกับส่วนของปล้อง (เนื่องจากจุดเจริญ หรือตาข้างอยู่ที่ส่วนของปล้อง) แนะนำให้ใช้มีด หรือกรรไกรในการตัด เพื่อความสะอาด และปลอดภัยของต้น หลังจากนั้น ก็ควรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราพวกไอโพรไดโอน (เช่น รอฟรัล) ไว้ด้วย

          หากต้นที่ไม่ได้รับการเด็ดยอดจะทำให้ออกดอกเร็วกว่าปกติ 10-15 วัน แต่จะได้ดอกปริมาณน้อย ขนาดไม่สม่ำเสมอ และลำต้นสูง ล้มง่าย หลังจากปลูกลงแปลงได้ประมาณ 10-15 วัน ควรเด็ดยอดดาวเรือง โดยให้ดาวเรืองเหลือใบจริงไว้ 3 คู่ (6 ใบ) เด็ดคู่ที่ 4 ทิ้งไป เพื่อให้ต้นดาวเรืองแตกกิ่งเป็นพุ่ม จะสามารถให้ดอกได้เป็นจำนวนมาก โดยในช่วงฤดูกาลปกติ การปลูกดาวเรืองที่ไม่ได้เด็ดยอดจะทำให้ดาวเรืองออกดอกได้เร็วกว่าต้นที่เด็ดยอด ประมาณ 1 สัปดาห์

          ดังนั้น ในช่วงฤดูหนาวที่เป็นช่วงวันสั้น หากไม่เด็ดยอด ก็จะทำให้ดาวเรืองออกดอกเร็วยิ่งขึ้นไปอีก โดยที่ลำต้นและกิ่งก้านยังไม่มีความสมบูรณ์เท่าที่ควร เป็นสาเหตุให้ผลผลิตที่ได้มีปริมาณไม่มากเท่าที่ควร ช่วงนี้ให้ระวังแมลงศัตรูดาวเรือง จำพวกเพลี้ยไฟ ไรแดง โดยจะทำลายยอดอ่อนที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ ทำให้ดาวเรืองชะงักการเจริญเติบโตได้ ดังนั้น หลังจากเด็ดยอดแล้ว จึงปล่อยให้ทั้งดอกยอดและดอกข้างเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งดอกยอดจะตัดขายได้ก่อนเป็นชุดแรก และดอกข้างๆ จะตามมาเป็นชุดๆ ตัดได้อย่างต่อเนื่อง ไปนาน 45-50 วัน จึงต้องมีการใส่ปุ๋ยให้ทุกๆ 10 วัน และถ้าดูแลได้ถูกต้องเหมาะสมจะได้ทั้งคุณภาพ และปริมาณต่อเนื่องกันยาวนาน

การใส่ปุ๋ยทางดิน

          ปุ๋ยแต่งหน้า ครั้งที่ 1 ให้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 25-7-7 ผสมกับ 15-0-0 อัตราส่วน 1:1 (เลือกใช้สูตรใดก็ได้ โดยยึด 15-0-0 เป็นหลัก) อัตรา 30-35 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วกลบโคนต้น จะให้ปุ๋ยสักราวๆ 32-35 วัน หลังปลูก ช่วงเจริญเติบโตทางต้น เป็นช่วง 30 วันแรก นับจากเพาะเมล็ด ในช่วงนี้ควรใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อเร่งให้ดาวเรืองเจริญเติบโตทางต้นและแตกกิ่งข้างให้เร็วที่สุด อาจใช้ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรต อัตรา 3 ช้อนแกง หรือยูเรีย 1 ช้อนแกง ผสมกับธาตุอาหารเสริมรดหรือพ่นต้นและใบ ขณะอายุได้ประมาณ 14-15 วัน และอีก 1-2 ครั้ง ทันทีหลังจากเด็ดยอดและย้ายปลูกแล้ว ทั้งนี้ เพื่อเร่งให้ดาวเรืองแตกกิ่งข้างพร้อมๆ กัน

          ปุ๋ยแต่งหน้า ครั้งที่ 2 สูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ผสมกับ 15-0-0 อัตราส่วน 2 : 1 (เลือกใช้สูตรใดก็ได้ โดยยึด 15-0-0 เป็นหลัก) อัตรา 35-40 กิโลกรัม ต่อไร่ จะให้ปุ๋ยสักราวๆ 52-55 วัน หลังปลูก ซึ่งการใส่ปุ๋ยทางดินสามารถใส่ได้ตามความเหมาะสมหรือความสมบูรณ์ของต้นดาวเรือง ปรับเปลี่ยนสูตรปุ๋ยตามที่หาซื้อได้ในพื้นที่นั้นๆ แต่คงสูตรปุ๋ยให้ใกล้เคียง ในกรณีที่ปลูกเพื่อเด็ดดอกใส่ถุงสำหรับร้อยพวงมาลัย หลังจากอายุครบ 50 วัน จะใส่ปุ๋ยเม็ด สูตร 16-16-16 หรือใกล้เคียง ครั้งละ 1 ช้อนชา ต่อเนื่องกันไป ทุกๆ 10 วัน อีก 3-4 ครั้ง จนกว่าต้นจะโทรม

          ทั้งนี้ เพราะยังสามารถตัดดอกขายได้อีกเรื่อยๆ ประมาณ 45-50 วัน ช่วงออกดอก ดาวเรืองจะเริ่มเกิดตาดอกขณะอายุประมาณ 30 วัน ถ้าปลูกในช่วงฤดูหนาว ดังนั้น ในช่วงอายุ 30-45 วันนี้ ควรเปลี่ยนใช้ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูง เช่น 15-30-15 หรือใกล้เคียง หากหาซื้อไม่ได้ อาจใช้ 20-20-20 ฝังลงไปในดิน ห่างจากต้นประมาณ 1 คืบ อัตรา 1 ช้อนชา ต่อต้น ขณะอายุประมาณ 30-35 วัน 1 ครั้ง และเสริมด้วยปุ๋ยเกล็ด สูตร 15-30-15 หรือใกล้เคียง อัตรา 2 ช้อนแกง พ่นต้นและใบในตอนเย็นๆ อีก 2-3 ครั้ง (ทุก 3-5 วัน)

          ส่วนการให้ธาตุอาหารเสริมโดยการฉีดพ่น การให้ธาตุอาหารเสริมแก่ดาวเรืองจะเน้นการให้แคลเซียม และโบรอน เป็นหลัก เพื่อเสริมความแข็งแรงของต้น จะฉีดพ่น 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ฉีดพ่นร่วมกับปุ๋ยทางใบ ให้เลือกสูตรตามระยะของการเจริญเติบโต เช่น ช่วงต้นเล็กๆ เร่งการเจริญเติบโตทางใบ เลือกใช้สูตร 25-7-7, 18-6-6 เป็นต้น ช่วงที่เริ่มออกดอก ก็เลือกใช้สูตร 5-20-25 เป็นต้น ช่วงบำรุงรักษาดอกให้มีคุณภาพ เลือกใช้ปุ๋ยทางใบ สูตร เช่น 12-12-12, 20-20-20, 21-21-21 เป็นต้น โดยเลือกใช้ตามความสะดวก ความสมบูรณ์ และระยะของการเจริญเติบโต

          การเก็บเกี่ยวดอกดาวเรือง หลังจากดาวเรืองอายุได้ประมาณ 45 วัน จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญมาก ควรให้ปุ๋ยดาวเรืองอย่างสม่ำเสมอ หรือทุก 7-10 วัน เพื่อให้อายุการเก็บเกี่ยวยาวนานและต้นไม่โทรมเร็ว โดยแปลงต้องมีความชื้นอยู่เสมอ เพื่อเลี้ยงดอกและต้น การเก็บดอกดาวเรืองก็ใช้กรรไกรหรือมีดตัดดอกที่สมบูรณ์ใส่ตะกร้า ก่อนนำมาคัดแยกเกรดและขนาดในที่ร่ม โดยเราจะมีช่องเพื่อวัดขนาด เพื่อให้ดอกมีความสม่ำเสมอเวลาคัด หากใช้ตาเปล่าคัดขนาด มักจะไม่เที่ยงตรงนัก โดยช่องวัดขนาดก็ทำแบบง่ายๆ คือใช้แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดมาตัดเป็นวงกลม ให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ผู้รับซื้อกำหนด ตั้งแต่ 3-12 เซนติเมตร โดยมากจะได้ขนาดดอก 7-10 เซนติเมตร

          เมื่อคัดขนาดดอกเสร็จ ก็จะเตรียมบรรจุถุง อย่างไซซ์ A ขนาดดอก 6-10 เซนติเมตร จะบรรจุใส่ถุงละ 50 ดอก แล้วจะต้องมัดเข้าคู่กัน 2 ถุง เพื่อให้ได้ 100 ดอก ให้ง่ายในการนับ ขนาดไซซ์ C-B คือ ขนาดดอก 3-5 เซนติเมตร จะบรรจุถุงละ 100 ดอก แล้วมัดถุงคู่กัน ให้ได้ 200 ดอก

          สำหรับดอก เกรด B และ C โดยที่ถุงจะต้องระบุเกรดขนาดดอก คือไซซ์ A, B, C ให้ชัดเจน รอทางกองบิน 64 มารับ ราคารับซื้อก็จะขึ้นลงตามตลาด แต่ถ้าราคาในตลาดสูงขึ้น ผู้ซื้อก็จะเพิ่มราคาให้แก่เกษตรกร แต่อย่างราคาช่วงนี้อาจจะถูกไปบ้าง เพราะมีการปลูกดาวเรืองกันมากขึ้น ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก อย่างดอกไซซ์ A ราคาราวๆ 20-30 บาท ส่วนไซซ์ B ราคา 10-25 บาท

          ส่วนการจ่ายเงิน จะตัดส่ง 3 ครั้ง (3 มีด) จะจ่าย 2 ยอดเงิน 2 ครั้ง อย่างการตัดดอกดาวเรือง เกษตรกรจะเก็บหรือตัดดอกได้ราวๆ 20-25 มีด โดย 1 มีด จะเว้นเก็บทุกๆ 3 วัน (หลังตัดดอก ต้องฉีดยาป้องกันโรคเชื้อราและแมลงทุกครั้ง) คุณบุญเรืองเล่าว่า ปลูกดอกเรือง 4,000 ต้น หรือราวๆ 1 ไร่ ใช้เวลาปลูกจนเก็บดอกจนหมดแค่ 2 เดือนครึ่ง ต้นทุนราวๆ 10,000 บาท จะมีผลกำไรราว 30,000-40,000 บาท ต่อรุ่น ซึ่งถ้าเทียบกับการปลูกพืชอื่น หรือการทำนา ถือว่ารายได้จากดาวเรืองตัดดอกดีกว่า ใช้ระยะเวลาสั้น ใช้แรงงานในครอบครัว ไม่ได้จ้างแรงงาน

          การกำจัดวัชพืช บางท่านที่ไม่ได้ใช้พลาสติกคลุมแปลงปลูก หรือไม่สะดวกในการดายหญ้าหรือถอนหญ้าเอง ก็จะมีการใช้ยากำจัดวัชพืชเข้ามาช่วย สำหรับพืชที่เริ่มปลูกใหม่ ให้กำจัดวัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืชก่อน โดยอาจใช้สารในกลุ่มของไกลโฟเสท หรือกลุ่มพาราควอท ก่อนไถแปลง การเลือกใช้สารกำจัดวัชพืชในกลุ่มใดนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณ และขนาดของวัชพืช

          หากเป็นวัชพืชที่เป็นกอขนาดใหญ่ มีไหลจำนวนมาก เช่น หญ้าคา หรือพืชตระกูลกกที่มีหัว เช่น หญ้าแห้วหมู วัชพืชพวกนี้จำเป็นที่จะต้องใช้สารกลุ่มไกลโฟเสท เพราะสารนี้จะเข้าสู่ท่อลำเลียงอาหาร และลงไปสู่ส่วนราก จึงทำให้พืชไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ได้ และสารนี้ต้องใช้เวลานาน กว่าที่พืชจะแสดงอาการไหม้ตาย ในขณะที่สารกลุ่ม พาราควอท นิยมใช้กับพืชที่มีขนาดเล็ก หรือกำลังเจริญเติบโต เพราะสารนี้จะเข้าทำลายเฉพาะส่วนที่เป็นสีเขียวเท่านั้น จึงทำให้พืชตายอย่างรวดเร็ว

          แต่หากเป็นพืชมีหัว หรือไหล เมื่อพืชได้รับสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็จะเจริญเติบโตกลับคืนมาใหม่ได้ สามารถเลือกใช้สารกำจัดวัชพืชตามความเหมาะสม เช่น พ่นสารกำจัดเมื่อพบวัชพืชในแปลง เช่น สารพาราควอท พ่นระหว่างร่องแปลงและช่องทางเดิน กรณีคลุมแปลงด้วยพลาสติกคลุมแปลง หรือใช้สารฮาโลซิฟอป–อาร์–เมทิล พ่นลงในแปลงปลูกเพื่อกำจัดวัชพืชใบแคบ (กรณีไม่คลุมแปลงด้วยพลาสติก) และควรใช้ช่วงที่วัชพืชมีใบจริง 2-3 ใบ จะมีผลดีที่สุด หรือจะเป็นการใช้สารควบคุมวัชพืชในกลุ่มอลาคลอร์ และกลุ่มเพนดิเมธาริน สามารถนำมาใช้ได้ (แนะนำว่าควรใช้สำหรับต้นกล้าที่ย้ายกล้าจากการใช้ถาดหลุมเท่านั้น) ซึ่งสารเหล่านี้สามารถควบคุมวัชพืชได้นานกว่า 2 เดือน

          วิธีการใช้ ก่อนใช้สารเหล่านี้ แปลงปลูกควรจะรดน้ำให้ชุ่ม สังเกตว่าน้ำซึมลงไปในชั้นดิน ประมาณ 30-40 เซนติเมตร จากนั้นพ่นสารเคมีดังกล่าว อัตรา 12.5 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร และผสมกับสารกำจัดวัชพืชกลุ่มไกลโฟเสท อัตรา 1 ซีซีต่อน้ำ 1 ลิตร เพื่อกำจัดเศษวัชพืช หรือต้นอ่อนที่อยู่หน้าผิวดิน แล้วย้ายปลูก 2 วัน หลังจากพ่นสารควบคุม

          คุณบุญเรือง เพชรนา ฝากทิ้งท้ายว่า การปลูกดาวเรืองเพื่อตัดดอกจำหน่ายนั้น การดูแลรักษาเกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้ แต่หัวใจสำคัญของที่สุดคือ ตลาดรับซื้อ ควรจะต้องมีก่อนการปลูก

ปลูกแล้วไม่มีที่ขาย ซื้อ-ขาย "ดาวเรือง" ได้ที่
VV คลิก VV

* * * * *
ที่มา : http://www.matichon.co.th

แชร์...ตรงนี้  เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV
Powered by Blogger.