Header Ads

Breaking News
recent

ประโยชน์จากการเหลือทิ้งของ 'กล้วย'


ประโยชน์จากการเหลือทิ้งของ 'กล้วย'

          กล้วย เป็นพืชเมืองร้อนที่มีปลูกกันทั่วไปในแถบเหนือและใต้เส้นศูนย์สูตร ทุกส่วนของกล้วยมีประโยชน์นานัปการ นับตั้งแต่ผลกล้วย ใบกล้วยหรือใบตอง ดอกกล้วยหรือหัวปลี ตลอดจนลำต้นกล้วยหรือ กาบกล้วย ฯลฯ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีการปลูกกล้วยกันอย่างแพร่หลาย ได้มีหน่วยงานหลายแห่งทำการวิจัยถึงประโยชน์ของวัสดุเหลือทิ้งจากกล้วย ในโรงงานอุตสาหกรรม ดังเช่น ที่การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (National Science and Technology Authority) พบว่าการนำเอาวัสดุเหลือทิ้งจากกล้วยมาใช้ประโยชน์นั้นกระทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น


1. ใช้ทำเป็นอาหารสัตว์
          เปลือกกล้วยและวัสดุเหลือทิ้งจากกล้วยนำมาทำเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ได้โดยตรง  โดยเอามาตากแห้งอัดเป็นเม็ด  แต่มีคุณค่าทางอาหารต่ำซึ่งอาจปรับปรุงให้มีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้นได้  โดยนำมาผสมกับวัสดุเหลือทิ้งอย่างอื่นที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและมีราคาถูกได้แก่รำข้าว ซึ่งมีโปรตีนประมาณร้อยละ 12 และมูลไก่ ซึ่งมีปริมาณโปรตีนร้อยละ 23 และได้รับการรับรองว่าไม่เป็นอันตรายเมื่อนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์  โดยผสมในอัตราส่วน  เปลือกกล้วยต้มตากแห้ง 10 กก. มูลไก่ 1.5 กก. รำข้าว 1 กก. ส่วนผสมที่ได้เรียกว่าเปลือกกล้วยแห้งปรุงแต่ง  ซึ่งจะให้ปริมาณโปรตีนประมาณร้อยละ 11 ไขมันประมาณร้อยละ 5 เถ้าประมาณร้อยละ 22 และความชื้นประมาณร้อยละ 3.8 ถ้านำเปลือกกล้วยแห้งปรุงแต่งนี้ไปผสมเป็นส่วนประกอบของอาหารไก่กระทงในประมาณร้อยละ 15 จะทำให้ไก่เจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าเลี้ยงด้วยอาหารปกติ  สำหรับสุกรจะต้องใช้ปริมาณถึงร้อยละ 20 จึงจะให้ผลดีเช่นกัน  นอกจากนี้แล้วหากนำวัสดุเหลือทิ้งจากกล้วยมาผสมกับมูลไก่แล้วหมักด้วยเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงสามารถนำมาใช้เป็นอาหารของวัว ควาย ซึ่งจะเพิ่มคุณค่าอาหารประเภทโปรตีนอีกด้วย


2. ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแก๊สชีวภาพ
          แก๊สชีวภาพซึ่งติดไฟได้ประกอบด้วยแก๊สมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่  ได้จากกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยเชื้อจุลินทรีย์ภายใต้สภาวะที่ไม่มีออกซิเจน  มูลไก่จะให้แก๊สชีวภาพได้ดีที่สุดในบรรดาสิ่งปฏิกูลที่ได้จากสัตว์จากการวิจัยพบว่า  วัสดุเหลือทิ้งจากกล้วยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแก๊สชีวภาพได้เช่นเดียวกับมูลสัตว์  ในจำนวนพืชด้วยกัน  ใบตองแห้งเหมาะที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแก๊สชีวภาพรองลงมาจากพืชจำพวกบัว เปลือกกล้วยดิบให้ผลผลิตมากกว่าเปลือกกล้วยสุกเล็กน้อย  และเปลือกกล้วยบดจะช่วยให้ย่อยสลายเร็วขึ้นและส่วนที่เป็นของแข็งทั้งหมด  ถ้ามีปริมาณมากก็จะช่วยให้ปริมาณของแก๊สชีวภาพเพิ่มมากขึ้นและเชื้อจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายเซลลูโลสและแป้งจากวัสดุเหลือทิ้งของกล้วย  ยังมีประสิทธิภาพในการผลิตแก๊สชีวภาพได้อีกด้วย

          กากที่เหลือในถังหมักหลังจากแก๊สออกหมดแล้ว นำมาใช้เป็นปุ๋ยให้แก่พืชได้ดี หรือจะใช้สำหรับเพาะเชื้อเห็ดฟางก็ได้ ส่วนกากที่เป็นน้ำใช้เป็นอาหารให้เป็ดกินได้


3. ใช้เป็นอาหาร
          เปลือกกล้วย นอกจากจะนำมาใช้เป็นอาหารของสัตว์หรือผลิตแก๊สชีวภาพดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังสามารถนำมาปรับปรุงเป็นเครื่องปรุงรสใช้รับประทานได้อีกด้วย เช่น น้ำส้มสายชู ซอส หรือทำเป็นเครื่องดื่ม เช่น ไวน์ก็ได้ มีวิธีทำดังนี้

          3.1  การทำน้ำส้มสายชู หั่นเปลือกกล้วยเป็นชิ้นเล็ก ๆ 1 กก. ใส่น้ำ 4 ถ้วย แล้วต้ม รินเอาน้ำแล้วกรองเติมน้ำตาล ¾ ถ้วย และแอมโมเนียมซัลไฟต์ ¼ ช้อนชา ทิ้งให้เย็นเติมยีสต์ขนมปังลงไป หมักทิ้งไว้ 8 วัน จะได้ปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณร้อยละ 9-10 เติมหัวเชื้อน้ำส้ม 1 ถ้วย ทิ้งไว้ 27 วัน จะได้น้ำส้มที่มีกรดประมาณร้อยละ 4-6 ใส่ขวดแล้วเก็บไว้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ได้น้ำส้มที่มีคุณภาพดี

          3.2  การทำไวน์ หั่นเปลือกกล้วยเป็นชิ้นเล็ก ๆ 1 กก. ใส่น้ำ 4 ถ้วยแล้วต้มรินเอาแต่น้ำแล้วกรองเติมน้ำตาล 1 ถ้วย ต้มเติมแอมโมเนียมซัลไฟต์ ¼ ช้อนชา ทิ้งให้เย็น เติมยีสต์ที่ใช้ทำไวน์ลงไป หมักทิ้งไว้ 8 วัน จะได้ปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณร้อยละ 11-12 ตั้งทิ้งไว้หนึ่งเดือน นำไข่ขาวที่ตีแล้วใส่ลงไป กรอง จะได้ไวน์ที่ใส

          3.3  การทำซอส นำเปลือกกล้วยมาล้างแล้วหั่น 1 กก. เลือกเอาส่วนที่เป็นใยที่ติดอยู่กับเปลือกออกให้หมด  ต้มในน้ำเดือด 10 นาที เติมน้ำ 1 ถ้วยต่อเปลือกกล้วย 1 ½ ถ้วย ตีให้เละแล้วกรอง นำส่วนเปลือกกล้วยที่กรองได้ 1 กก. เติมน้ำตาล 12 ช้อนโต๊ะ น้ำส้มสายชู 9 ช้อนโต๊ะ เกลือ และกลิ่นเล็กน้อย  ทำให้ร้อนในหม้อที่มีฝาปิด 10 นาที เคี่ยวจนเปื่อยและคนตลอดเวลาจนกว่าจะข้นเติมโซเดียมเบนโซเอต ¼  ช้อนชา ต่อซอสที่ได้ 4 ถ้วย แล้วจึงเทใส่ขวดสะอาดขณะร้อนปิดให้สนิท ต้มฆ่าเชื้อ 10 นาที ทิ้งให้เย็น

          3.4  การทำเปลือกกล้วยบด ล้างแล้วหั่นเปลือกกล้วยเป็นชิ้นเล็ก ๆ 1 กก. เลือกเอาส่วนที่เป็นใยที่ติดอยู่กับเปลือกกล้วยออกให้หมด ต้มในน้ำเดือด 10 นาที เติมน้ำ 1 ถ้วยต่อเปลือกกล้วย 2 ½ ถ้วย ตีให้เละแล้วกรอง นำเปลือกกล้วยที่เปื่อยยุ่ย 1 กก. เติมเกลือ 1 ช้อนชา  ต้มและคนเป็นครั้งคราวจนข้นแล้วจึงเทใส่ขวดสะอาดขณะร้อน ปิดให้สนิท ต้มฆ่าเชื้อ 10 นาที  เก็บไว้ใช้ทำเป็นอาหารอย่างอื่นต่อไปได้

          จะเห็นว่านอกจากผลกล้วยจะนำมาใช้รับประทานแล้ว  เปลือกกล้วยที่คิดว่าไม่มีประโยชน์ยังสามารถนำมาเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงใช้เป็นอาหารคนและสัตว์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ถ้าปริมาณน้อยก็ทำเป็นอาหารสำหรับรับประทานภายในครอบครัวหรือถ้ามีมากก็ทำเป็นการค้าเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทำเกษตรแล้วไม่มีที่ขาย ซื้อ-ขาย "สินค้าเกษตร" ได้ที่
VV คลิก VV

* * * * *
แชร์...ตรงนี้  เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV
Powered by Blogger.