วิธีปลูกดอกขจร (สูตรปลูกแล้วรวย) พร้อมสาระดีดีของดอกขจร
วิธีปลูกดอกขจร (สูตรปลูกแล้วรวย) พร้อมสาระดีดีของดอกขจร
ขจร เป็นไม้เถาเลื้อยขนาดเล็กที่สามารถเลื้อยพันไปกับต้นไม้ชนิดอื่นได้ไกลประมาณ 2-5 เมตร ถิ่นกำเนิดของต้นไม้ชนิดนี้อยู่ในประเทศจีน และประเทศอินเดีย ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ตามป่าเต็งรัง ป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาคของประเทศ เถาของขจรจะมีลักษณะกลม เมื่อยังอ่อนจะเป็นสีเขียว และกลายเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ใบ มีลักษณะเป็นรูปหัวใจ คล้ายใบพลูหรือใบโพธิ์ สีเขียวอมแดง มักออกเป็นใบเดี่ยวตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ขอบใบเรียบ โคนใบมนและเว้า ปลายใบเรียวแหลมมีติ่งยาว แผ่นใบบาง ด้านล่างของใบจะเรียบ บนใบมีคลื่นเล็กน้อย สามารถมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ขนาดของใบมีความกว้างประมาณ 4-7.5 ซม. และยาวประมาณ 6-11 ซม. ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 1.2-2 ซม. ขจรมักแตกใบเป็นพุ่มแน่นทึบ ตามยอดอ่อนมีขนสีขาวๆ ปกคลุมอยู่ทั่ว
ดอก มักออกตามซอกใบหรือโคนก้านใบเป็นช่อแบบกระจุก มีดอกย่อยสีเขียวอมเหลือง และในช่วงเย็นจนถึงกลางคืนมักจะส่งกลิ่นหอมมาก ซึ่งในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 10-20 ดอก ดอกของขจรจะมีลักษณะแข็ง มีกลีบดอก 5 กลีบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1.5 ซม. กลีบดอกมักจะบิดและย่น ส่วนปลายแหลมแยกเป็น 5 แฉก โคนกลีบดอกมีลักษณะเป็นหลอดสั้นๆ เชื่อมติดกันอยู่ บนหลอดกลีบดอกจะมีเกสรเพศผู้เชื่อมติดอยู่กับเกสรยอดเกสรเพศเมีย 5 อัน เพื่อล้อมเกสรเพศเมียเอาไว้ ในเกสรเพศเมียมีรังไข่อยู่ 2 อัน มีกลีบเลี้ยงสีเขียวที่แยกออกจากกันเป็นอิสระ จำนวน 5 กลีบ ดอกขจรจะให้กลิ่นที่หอมมากกว่ากลิ่นของใบเตยหรือกลิ่นดอกชำมะนาด ซึ่งประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ดอกขจรก็มักจะผลิดอกออกมาให้เห็น หรือในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ก็อาจพบเห็นได้ด้วยเช่นกัน
ผลหรือฝัก มีลักษณะกลมยาว ปลายแหลม ผิวเรียบ มีสีเขียว เมื่อแก่ฝักจะแตกออกและมีเมล็ดลักษณะแบนอยู่ภายในจำนวนมาก ที่ปลายเมล็ดมักจะมีปุยสีขาวติดอยู่สามารถปลิวว่อนไปในอากาศได้ ประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ขจรก็จะเริ่มออกผลมาให้เห็น
การขยายพันธุ์ดอกขจร
สามารถทำได้ด้วยวิธีการปักชำ และวิธีการเพาะเมล็ด แต่วิธีที่นิยมทำกันเป็นส่วนใหญ่คือ วิธีการปักชำ ขจรเป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัด และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีความอุดมสมบูรณ์
การเลือกกิ่งพันธุ์ดอกขจร
ให้เลือกกิ่งที่มีเครือดอกขจรโตสมบูรณ์และใบร่วงไปหมดแล้ว ซึ่งเป็นกิ่งที่เหมาะแก่การนำไปขยายพันธุ์
การเตรียมกิ่งดอกขจร
ตัดบริเวณข้อให้ได้ 2 ข้อๆ ละประมาณ 2 ซม. นำส่วนที่เป็นตาข้อปักลงไปในดินให้ลึกประมาณ 1-2 ซม. เพื่อเพาะชำ
การเตรียมดิน
ทำการไถพรวนกลบพื้นที่ปลูกด้วยปุ๋ยมูลไก่จำนวน 10 กระสอบ แล้วตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ต่อจากนั้นให้ทำการยกแปลงไปตามความยาวของพื้นที่ โดยให้แปลงมีความกว้างประมาณ 4-6 เมตร และระหว่างแปลงควรให้อยู่ห่างกันประมาณ 80 ซม.
วิธีการปลูกดอกขจร
ใน 1 แปลง ควรใช้ระยะปลูกแบบ 2 แถว โดยให้ห่างกันประมาณ 2×2 เมตร หลุมสำหรับปลูกควรลึกประมาณ 30-50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกให้พอเหมาะและตามด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อนแกง นำกิ่งพันธุ์ประมาณ 2-3 กิ่งลงปลูกพร้อมเกลี่ยดินกลบโคนต้นให้แน่น รดน้ำให้พอชุ่ม หลังจากนั้นควรให้น้ำวันละ 1 ครั้ง หรือตามสภาพของดินว่ามีความชื้นมากน้อยแค่ไหน ขจรจะเริ่มออกดอกหลังจากปลูกได้ประมาณ 1 เดือนขึ้นไป หรือหลังจากที่ปลูกไปแล้วประมาณ 5 เดือน หากมีการให้น้ำอย่างเพียงพอแก่ความต้องการ ขจรก็จะเริ่มให้ผลผลิตได้อีก
การทำค้างดอกขจร
เพื่อให้ต้นขจรได้เลื้อยพัน และมีการแตกยอดที่ดี จึงควรใช้ไม้ในการทำค้างจำนวน 2 เสา ปักเป็นหลักให้ห่างกันประมาณ 2 เมตร ตามแนวยาวของแปลง โดยให้สูงจากพื้นดินประมาณ 1.50 เมตร และใช้ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ปักระหว่างเสาหลัก และเพื่อให้เป็นทางเลื้อยขึ้นไปของยอดขจร ก็ให้ใช้ไม้ไผ่ที่ผ่าซีกแล้วผูกเป็นขั้นบันไดไว้ด้วยประมาณ 5-6 ขั้น โดยเว้นทางเดินไว้ประมาณ 80 ซม. นับเป็น 1 ซุ้ม แล้วเริ่มทำซุ้มต่อไปเรื่อยๆ
การใส่ปุ๋ยดอกขจร
ควรให้ปุ๋ยอินทรีย์สูตรน้ำชนิดใดก็ได้ประมาณ 1 ครั้ง/สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 สลับกับสูตร 25-7-7 ประมาณ 2 ครั้ง/เดือน และใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักบริเวณโคนต้นไปได้เรื่อยๆ ตามความเหมาะสม
การดูแลรักษาดอกขจร
ควรใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรที่ได้จากการนำน้ำเปล่า 12 ลิตร ผสมกับสะเดา ตะไคร้หอม ข่า รวมกันให้ได้ 10 ก.ก. แล้วหมักทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน โดยใช้ผสมกับน้ำใช้รดต้นไม้เพื่อเป็นการดูแลบำรุงรักษา และเพื่อปราบศัตรูพืช
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ขจร จะให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้หลังจากที่ปลูกไปได้ประมาณ 5 เดือน ควรทำการเก็บเกี่ยวในช่วงเช้ามืด โดยใช้มีดคมๆ ตัดบริเวณขั้วของก้านดอก เก็บแบบวันเว้นวัน หลังการเก็บเกี่ยวควรมีการตัดแต่งกิ่งที่แก่ออกอยู่เสมอเพื่อให้มีการแตกยอดออกมาใหม่ ในช่วงที่ให้ดอกน้อยประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ควรมีการแต่งกิ่งให้โล่ง หลังทำการย้ายปลูกได้ประมาณ 30 วันต้นขจรก็จะเริ่มผลิดอก และในช่วงอายุประมาณ 8-10 เดือน ก็จะให้ผลผลิตได้มากที่สุด
ต้นทุนที่ใช้ในการปลูก
กิ่งพันธุ์ ไม้ไผ่ น้ำ ปุ๋ย และวัสดุอื่นๆ เป็นต้นทุนหลักที่สำคัญในการปลูกขจร เฉพาะช่วงแรกๆ เท่านั้นที่มีการลงทุนมาก แต่ต้นทุนก็สามารถลดลงได้ถ้ามีการทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง ต้นขจรมีอายุยืนยาวนานเป็น 10 ปี การตัดแต่งกิ่งอยู่เป็นประจำจะทำให้มีการแตกกิ่งใหม่และสามารถเก็บผลผลิตอยู่ได้เรื่อยๆ
ประโยชน์ของขจร
ส่วนของยอดอ่อน ผลอ่อน และดอก สามารถใช้รับประทานเป็นผักสด หรือลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้ และยังใช้ประกอบในการปรุงอาหารได้อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแกง ผัด ทอด หรือยำ เป็นต้น คนในสมัยโบราณมักจะใช้ดอกทำเป็น “ขนมดอกขจร” โดยนำดอกขจรมานึ่งให้สุกแล้วผสมกับมะพร้าวอ่อนหรือมะพร้าวแก่ขูดฝอย น้ำตาลทราย งา และเกลือ ซึ่งขนมชนิดนี้หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน ดอกของขจรที่มีความสวยงามและมีกลิ่นหอม ยังสามารถนำมาร้อยเป็นมาลัย หรือปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้ ส่วนเถาของต้นขจรก็สามารถนำมาใช้แทนเชือกได้ เพราะมีความเหนียวทนทานมาก
นอกจากนี้ขจรยังมีคุณค่าทางโภชนาการอีกมากมาย ซึ่งประกอบไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย คือ พลังงาน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ใยอาหาร น้ำ เถ้า วิตามินเอ วิตามินบี 1, บี2, บี3 วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก และฟอสฟอรัส
สรรพคุณทางยาโบราณ
ดอก ยอดใบอ่อน – ใช้บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงสายตา แก้หวัด ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะและโลหิต ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยในการขับถ่าย ช่วยบำรุงฮอร์โมนของสตรี ช่วยบำรุงตับและไต ใช้เข้าเครื่องยาหอมต่างๆ
ราก – ช่วยรักษาอาการโลหิตเป็นพิษ ช่วยถอนพิษยาเบื่อเมา ช่วยให้อาเจียน ใช้ฝนหยอดตาแก้อาการตาแดง ตาแฉะ ตามัว ตาอักเสบ ช่วยดับพิษยาและพิษทั้งปวง ทำให้รู้รสชาติของอาหาร
แก่น เปลือก – ใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย
ปลูกแล้วไม่มีที่ขาย ซื้อ-ขาย "ดอกขจร" ได้ที่
VV คลิก VV
กลุ่มเฟซบุ๊ก : ตลาดกลาง ซื้อ-ขายสินค้า เกษตร
* * * * *
ที่มา : วิชาเกษตรภาพ : ขอขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
แชร์...ตรงนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV