การปลูกถั่วเหลือง
การปลูกถั่วเหลือง
วิธีเตรียมดินและการปลูกในฤดูฝนการปลูกถั่วเหลืองในฤดูฝน การเตรียมดินเหมือนกับพืชไร่อื่นๆ คือ ไถแล้วพรวน 1-2 ครั้ง ขึ้นกับสภาพดิน และให้มีความลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปรับระดับหน้าดินให้สม่ำเสมอไม่ให้มีน้ำขัง และมีการขุดร่องโดย รอบแปลงปลูกเพื่อระบายน้ำได้สะดวก ในขณะปลูกดินควรจะมีความชื้นที่ดีเพื่อให้เมล็ดงอกอย่างรวดเร็ว ดินที่จับตัวเป็นแผ่นแข็งที่หน้าดินหลังฝนตกหนักและแห้ง จะทำให้ต้นกล้าไม่สามารถงอกทะลุผิวดินขึ้นมาได้ ทำให้ความงอกไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นดินที่เป็นดินเหนียว ดินร่วนปนเหนียวจึงไม่ควรเตรียมดินให้ละเอียดนัก
การปลูกมีหลายวิธี เช่น โรคเมล็ดเป็นแถว และหยอดเป็นหลุม ให้ลึก 2-3 เซนติเมตร แต่ที่ให้ผลดี คือหยอดเมล็ด ในหลุมที่เตรียมไว้ โดยมีระยะระหว่างแถวและระหว่างต้น ที่พอเหมาะกับการเจริญเติบโต คือ 50x20 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 3-4 เมล็ด ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 7 กิโลกรัมต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ หากเมล็ดพันธุ์มีความงอกต่อจะต้องเพิ่ม ปริมาณหยอดเมล็ดต่อหลุมให้มากขึ้น
พื้นที่ที่ไม่เคยปลูกถั่วเหลืองมาก่อนหรือดินที่เป็นกรดหรือด่างมากเกินไปเหล่านี้ ควรปรับสภาพดินให้เหมาะสมก่อน และคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก จะทำให้เพิ่มผลผลิตได้มาก
การปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้งในนาข้าว
เนื่องจากสภาพขอดินแต่ละแหล่งแตกต่างกัน ดังนั้น วิธีการเตรียมดินจึงแตกต่างกัน เช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือแหล่งปลูกที่มีสภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินปนทรายที่มีการระบายน้ำและสภาพดินร่วนซุย การปลูกถั่วเหลืองตามหลังข้าวที่นิยมทำกัน คือ ปลูกในตอซังข้าวโดยไม่มีการไถพรวนดิน วิธีนี้ต้องตัดตอซังข้าวให้สั้น เพื่อจะสะดวกต่อการปลูก จะเผาตอซังในนาข้าวหรือไม่เผาก็ได้
วิธีปลูก
ใช้ไม้ปลายแหลมเจาะดินชิดบริเวณตอซังให้เป็นรู แล้วหยอดเมล็ดถั่วเหลืองลงหลุม การเจาะดินให้เป็นหลุมควรจะลึก 3-5 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวของตอซังเป็นเกณฑ์ในการแทงหลุมและใช้ระยะระหว่างหลุม 20-25 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 3-4 เมล็ด แล้วใช้ฟางข้าวคลุกเพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำในดิน แล้วระบายน้ำเข้าพอให้ดินเปียกชุ่ม แล้วระบายน้ำออกทันที ประมาณ 5-7 วัน ถั่วจะเริ่มงอก เพื่อให้รับสภาพอากาศและการปล่อยน้ำชลประทานควรปลูกให้เสร็จก่อนกลางเดือนมกราคม ถ้าปลูกช้ากว่านี้ปริมาณน้ำอาจมีไม่พอ และการเก็บเกี่ยวจะตรงกับช่วงฝนในเดือนพฤษภาคม
การปลูกถั่วเหลืองทันทีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว และในสภาพที่มีตอซังอยู่วิธีการที่รักษาความชุ่มชื้นของดินให้พอ เหมาะกับการเจริญเติบโตของถั่วเหลือง แต่การเตรียมดินนอกจากทำให้ดินร่วนซุยแล้ว ยังเป็นเการกำจัดวัชพืช เป็นการปรับที่สำหรับส่งน้ำเข้าแปลงและระบายน้ำออก และยังทำให้ปลูกถั่วได้ง่ายขึ้น
การไถก่อน 1 ครั้ง แล้วยกร่องให้สันร่องกว้างประมาณ 1 เมตร พอที่จะปลูกถั่วเหลืองได้ 2 แถวบนสันร่อง จะทำให้สะดวกในการ่ส่งน้ำเข้าไปตามร่องตลอดทั้งการปฏิบัติดูแลรักษา และเก็บเกี่ยว
การเตรียมดินในภาคกลาง หรือแหล่งปลูกที่มีสภาพดินเป็นดินเหนียว ต้องไถพรวนให้ดินแตกเป็นก้อน ขนาด 1-2 นิ้ว ไม่ควรให้ดินแตกจนละเอียดเพราะเมื่อปล่อยน้ำเข้าแล้วดินจะจับเป็นแผ่นอีก ควรมีการยกแปลงและทำร่องน้ำสำหรับส่งน้ำเข้าแปลงได้ ร่องน้ำควรลึกประมาณ 30 เซนติเมตร หลังแปลง หรือสันร่องไม่ควรกว้างเกิน 1.5 เมตร เพราะถ้ากว้างเกินไปทำให้น้ำซึมเข้าไปถึงกลางแปลงได้น้อย ระวังอย่าให้น้ำท่วมหลังร่อง เพราะจะทำให้ดินแน่นและแฉะได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกๆ เมื่อหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปเมล็ดจะเน่าเสียหาย
การเตรียมดินในภาคตะวันออก เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ควรเกี่ยวให้ชิดดินแล้วเผาตอซังในนา เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืช โรค แมลงบางชนิด ขี้เถ้าที่ได้จากการเผาตอซังช่วยลดความเป็นกรดเป็นดิน และให้ธาตุโปตัสเซียมเล็กน้อยแล้วขุดร่องน้ำรอบบริเวณที่ปลูก หลังจากนั้นจึงแบ่งแปลงปลูกให้เป็นแปลงย่อย กว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อสะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษาและสามารถให้น้ำได้อย่างทั่วถึง
หลังจากนั้นจึงปล่อยน้ำท่วมแปลงขังไว้ 1 คืน แล้วจึงระบายน้ำออกทิ้งไว้ 2-3 วัน พอดินหมาด ใช้เชือกขึงตรงเป็นแนวปลูก แล้วใช้ไม้เคี่ยวหรือไม้คู่กระทุ้งเตรียมหลุมปลูกโดยใช้ระยะระหว่างต้น 20-25 เซนติเมตร ระหว่างแถว 40-50 เซนติเมตร โดยหยอดเมล็ดลึก 2-3 เซนติเมตร
การปฏิบัติ ดูแลรักษา
1. การให้น้ำ ในฤดูแล้งควรให้น้ำประมาณ 5-6 ครั้งตลอดฤดูปลูกโดยให้ครั้งแรกก่อนปลูก ครั้งต่อๆไปใหทุก 10-14 วัน อีก 4-5 ครั้ง แล้วแต่ความชุ่มชื้นของดิน เนื่องจากความสามารถในการอุ้มน้ำของดินแตกต่างกันไป ควรจะสังเกตใบถั่วเหลืองประกอบด้วย เช่น โดยปกติใบถั่วจะเหี่ยวใบตอนบ่าย และจะคืนตัวเป็นปกติในตอนเย็น หากเห็นว่าในตอนเย็นหรือตอนเช้า ใบถั่วยังมีอาการเหี่ยวไม่เป็นปกติ ก็ควรจะให้น้ำได้
การให้น้ำควรให้พอดี ไม่ควรให้น้ำท่วมแปลงถั่วเหลืองเกิน 1-2 วัน ถ้าให้มากเกินไป หรือดินชั้นล่างแฉะ จะสังเกตเห็นใบเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองก้านใบและเส้นใบจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงให้รีบระบายน้ำออกทันที และลดการให้น้ำครั้งต่อไปให้น้อยลง หรือยืดช่วงเวลาให้น้ำครั้งต่อไปนานกว่าเดิม ควรระวังอย่าให้ขาดน้ำในช่วงที่ออกดอกและติดฝัก หยุดให้น้ำเมื่อฝักเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลือง
2. การพรวนดินและดายหญ้า ควรทำอย่างน้อย 2 ครั้ง ในระยะที่ต้นถั่วอายุไม่เกิน 30 วัน หลังจากนี้แล้วถั่วจะเริ่มออกดอก การพรวนดินจะกระเทือนระบบรากและอาจทำให้ดอกร่วงได้ และในระยะที่ถั่วออกดอก ต้นถั่วจะแผ่กิ่งก้านมากพอที่จะปกคลุมดิน ป้องกันวัชพืชเจริญเติบโตได้
ปัญหาที่พบมากในการปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้งในนาข้าวคือ วัชพืช โดยเฉพาะหญ้าและลูกข้าวจะงอกขึ้นมาเมื่อ ได้รับน้ำ จึงควรกำจัดพืชอย่างน้อย 2 ครั้ง ตามความจำเป็น หากอายุเกิน 30 วันแล้วไมควรทำอีก
การดูแลแปลงปลูกถั่วเหลืองในระยะ 1 เดือนแรก ให้ปลอดจากวัชพืชรบกวนได้ นับว่าสำคัญที่สุดในการเพิ่มผลผลิต ถั่วเหลือง
3. การบำรุงดิน ในดินที่อุดมสมบูรณ์แล้ว เมื่อใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงไปอาจทำให้ถั่วเหลืองเฝือใบได้ และเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยไม่จำเป็นแต่ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำจะต้องใช้ปุ๋ยเคมีช่วย และควรให้ปุ๋ยถูกต้องกับความต้องการของถั่วเหลืองด้วย
ในดินที่ได้ทำการเกษตรกรรมมานาน ปริมาณธาตุอาหารในดินย่อมลดน้อยลง โดยเฉพาะไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ส่วนโปแตสเซียมพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีปริมาณเพียงพอ แต่ถ้าดินขาดธาตุโปแตสเซียมแล้วถั่วเหลืองจะมีอาการตอบสนองต่อปุ๋ยได้ง่าย โดยเฉพาะในดินทรายถึงร่วนปนทรายพบว่าในดินที่ขาดธาตุโปแตสเซียม ถ้ามีการให้ปุ๋ยโปแตสเซียมช่วยแล้ว จะให้ผลดียิ่งขึ้น ผลผลิตจะเพิ่มและเปอร์เซนต์น้ำมันในเมล็ดจะเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว ปฏิกิริยาความเป็นกรดหรือเป็นด่างของดินก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อ ความเจริญเติบโตของถั่วเหลืองและ ประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ย ถั่วเหลืองจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความ เป็นกรดและด่างของดินประมาณ 5.5-6.5
สำหรับดินปนทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงหรือต่ำไม่ช่วยให้เพิ่มผลผลิตสูงได้ เนื่องจากการสูญเสียไนโตรเจนไปอย่างรวดเร็ว แต่การใช้เชื้อไรโซเบี่ยมคลุกเมล็ดก่อนปลูกจะมีผลดีกว่าการ ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน
* * * * * *
บทควาทดีดีจาก : myveget.comโดย : Kaset NaNa เกษตรนานา
ลิ้งค์ที่น่าสนใจ