Header Ads

Breaking News
recent

ชาน้ำมัน “น้ำมันมะกอกแห่งตะวันออก"

ชาน้ำมัน “น้ำมันมะกอกแห่งตะวันออก"

      “ผลิตภัณฑ์ ภัทรพัฒน์ คามีเลีย โอลีเฟร่า บอดี้ โลชั่น โลชั่นบำรุงผิวกาย ช่วยให้ผิวดูนวลเนียนอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยคุณค่าของสารสกัดจากธรรมชาติและน้ำมันเมล็ดชา ซึ่งช่วยให้ผิวพรรณกระจ่างใส ช่วยบำรุงและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวกาย ทำให้ผิวไม่แห้งกร้าน มีกลิ่นหอมอ่อนโยนติดกายตลอดทั้งวัน”....



        “ผลิตภัณฑ์ ภัทรพัฒน์ คามีเลีย โอลีเฟร่า คลีนซิ่่งเจล ผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาดผิว เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ใช้ทำความสะอาดผิวได้อย่างอ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว ลดความหยาบกร้าน พร้อมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นแก่ผิว ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอย”

        “ผลิตภัณฑ์ ภัทรพัฒน์ คามีเลีย โอลีเฟร่า ลิป แคร์ ลิปบาล์มบำรุงริมฝีปาก ผสานคุณค่าจากน้ำมันเมล็ดชา และมีส่วนผสมของ OSPF35 ช่วยปกป้องและลดเลือนความหมองคล้ำของริมฝีปาก คืนความชุ่มชื้นให้ริมฝีปาก ช่วยให้ริมฝีปากชุ่มชื้นยาวนาน”

        ทั้งหมดข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการหีบน้ำมันจากเมล็ดชาน้ำมัน ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในกลุ่มเครื่องสำอางที่ใช้น้ำมันเมล็ดชาเป็นส่วนผสม และกลุ่มผลิตภัณฑ์สบู่ และวางจำหน่ายอยู่ที่ร้าน @เมล็ดชา ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน    

        ศูนย์แห่งนี้นับเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ที่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชาน้ำมัน พืชน้ำมันชนิดใหม่ของประเทศไทย

        ชาน้ำมัน นั้น ได้รับสมญาว่า “น้ำมันมะกอกแห่งตะวันออก” ด้วยมีสรรพคุณที่โดดเด่นของน้ำมัน เมล็ดที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับมะกอกน้ำมัน ไม่ว่า สรรพคุณทางการแพทย์ สามารถช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดความเสี่ยงของโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันโรคเบาหวาน รวมถึงการมีสารประกอบหลักที่ช่วยทำให้ผิวอ่อนนุ่ม ชุ่มชื้น เหมาะในการนำไปใช้ผลิตและแปรรูปในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

เพราะพระมหากรุณาธิคุณ เมืองไทยจึงมี ชาน้ำมัน

        ชาน้ำมัน ไม่ใช่พืชพรรณท้องถิ่นของประเทศไทย แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชประสงค์ต้องการให้คนไทยได้บริโภคน้ำมันพืชที่ดีและมีคุณภาพสูง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับชาน้ำมันด้วยพระองค์เอง และได้มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการศึกษาและทดลองปลูกชาน้ำมันจากประเทศจีน และจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมันขึ้น

        พร้อมทั้งพระราชทานสายพันธุ์ชาน้ำมัน Camellia oleifera ซึ่งที่ได้รับการถวายมาจากสถาบันพฤกษศาสตร์ของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

        มูลนิธิชัยพัฒนา ได้สนองพระราชดำริ โดยจัดทำ “โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน” เมื่อปี 2546 โดยประสานกับ สถาบันพฤกษศาสตร์มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน นำเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าชาน้ำมันมาวิจัยและทดลองปลูกในพื้นที่ทดลองวิจัย ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และพื้นที่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

        ในปี 2549 ทางสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเมล็ดพันธุ์ จำนวน 2,500 กิโลกรัม และต้นกล้าชาน้ำมันอีก 40,000 ต้น ปัจจุบัน โครงการได้ขยายการปลูกในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และนครราชสีมา แล้ว 954,378 ต้น รวมพื้นที่กว่า 3,683 ไร่ อาทิ โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย พื้นที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (โป่งน้อย) พื้นที่แปลงชาน้ำมันบ้านโปง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่บ้านปางมะหัน บ้านปูนะ และพื้นที่ใกล้เคียง ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

        พร้อมกันนี้ยังมีการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับชาน้ำมัน เช่น ศึกษาพฤติกรรมการเจริญเติบโต และศักยภาพการให้ผลผลิตของชาน้ำมัน ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การสำรวจรวบรวมและศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชสกุลชา (Camellia L.) ในประเทศไทย ศึกษาและวิจัยการสกัดแยกน้ำมันจากเมล็ด เก็บข้อมูลสำหรับกำหนดลักษณะ อุปกรณ์และเครื่องจักรสำหรับโรงงานผลิต เป็นต้น

        สำหรับ ชาน้ำมัน ที่นำมาปลูกในภาคเหนือของประเทศไทยนั้น พบว่า มีอายุการผลิตที่เร็วกว่าที่ปลูกในประเทศจีน โดยในประเทศจีน ต้นชาน้ำมัน ที่ปลูกจะให้ผลผลิตเมล็ดได้เมื่ออายุ 7 ปี แต่เมื่อนำมาทดลองปลูกในประเทศไทยกลับพบว่า สามารถให้ผลผลิตได้เมื่ออายุเพียง 4-5 ปี เท่านั้น

มารู้จัก ชาน้ำมัน น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก

        จากข้อมูลเกี่ยวกับ ชาน้ำมัน ของมูลนิธิชัยพัฒนา ได้บอกว่า ต้นชาน้ำมัน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Camellia Oleifera Abel, Theaceae เป็นพืชในสกุล Camellia เช่นเดียวกับชาที่ใช้ในการชงดื่ม (Camellia Sinensis) แต่เป็นคนละสายพันธุ์กัน

        ต้นชาน้ำมันนี้ มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า Oil-seed Camellia, Tea Oil Camellia, หรือ Lushan Snow Camellia

        ชาน้ำมัน เป็นไม้เศรษฐกิจซึ่งพบแพร่หลายทางตอนใต้ของประเทศจีน สามารถเจริญเติบโตได้ดีที่ระดับความสูง 500-1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล

        ชาน้ำมัน เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 10-20 ฟุต ผลชาสีเขียวมีลักษณะกลม ขนาดเท่าลูกมะนาว เมื่อผลแก่เปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งแตกออก ภายในเปลือกจะเต็มไปด้วยเมล็ดชาสีน้ำตาลเข้มถึงดำ

        คุณสมบัติของน้ำมันเมล็ดชา น้ำมันเมล็ดชาเป็นที่รู้จักในประเทศจีนนานกว่า 1,000 ปี มาแล้ว มีประโยชน์มากมายจนได้ชื่อว่าเป็น น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันที่ดีต่อร่างกาย ไม่ด้อยไปกว่าน้ำมันมะกอก และไม่มีกรดไขมันทรานส์ ซึ่งทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอ ดี อี และเค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        นอกจากนี้ น้ำมันชา ยังมีกรดไขมันอิ่มตัวซึ่งไม่ดีต่อร่างกายต่ำ ในขณะที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวหรือกรดไลโนเลอิก (กรดโอเมก้า 9) สูงถึงประมาณ 87-81% และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (กรดโอเมก้า 6) ประมาณ 13-28% และ กรดแอลฟาไลโนเลอิก (กรดโอเมก้า 3) ประมาณ 1-3%

        กรดไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านี้สามารถช่วยลดระดับ LDL (คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี) และเพิ่มระดับ HDL (คอเลสเตอรอลชนิดดี) ในร่างกาย ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน โรคอัมพาต โรคความดัน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ได้ จึงดีต่อสุขภาพของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ

        นอกจาก น้ำมันชา จะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์สูงอย่างวิตามินอี และสารคาเทชิน ซึ่งช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมันให้นานขึ้น น้ำมันชายังมีจุดเดือดเป็นควันสูงถึง 252 องศาเซลเซียส (486 ฟาเรนไฮต์) ทำให้สามารถประกอบอาหารได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทอดหรือการผัดในอุณหภูมิที่ไม่สูงมากนัก หรือเป็นส่วนผสมของน้ำสลัดหรือซอสหมักเนื้อสัตว์

        ประโยชน์อื่นๆ ของน้ำมันชา นอกจากจะใช้ในการบริโภคและประกอบอาหารแล้ว น้ำมันชายังสามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอางบำรุงเส้นผมและผิวพรรณต่างๆ เช่น ครีมและโลชั่นบำรุงผิว ครีมกันแดด สบู่ แชมพูสระผม หรือผสมกับน้ำมันหอมระเหย

        จากการวิจัยน้ำมันจากเมล็ดชาเพื่อประโยชน์ทางเครื่องสำอางพบว่า โลชั่นที่ผสมน้ำมันชา 5% และ 10% ช่วยปรับสภาพผิวให้เรียบเนียนขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่น รวมถึงลดความหยาบกร้านและริ้วรอยบนผิวของผิวอาสาสมัครได้ใน 8 สัปดาห์ รวมถึงได้รับการยอมรับจากอาสาสมัครในระดับที่น่าพอใจ โดยประสิทธิภาพที่ได้จะใกล้เคียงกับน้ำมันแร่

        กากเมล็ดชา (Tea seed meal) ที่ได้จากการหีบน้ำมันออกแล้ว จะมีลักษณะเป็นแผ่นแบน (Tea seed cake) มีสารซาโปนิน ประมาณ 11-18% เป็นส่วนประกอบ สารตัวนี้สามารถนำไปใช้เป็นสารลดแรงตึงผิวและทำให้เกิดฟอง ใช้ในการผลิตน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ รวมถึงน้ำยากำจัดศัตรูพืช หอยเชอรี่ในนาข้าว และปลาในบ่อกุ้ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการนำเข้ากากเมล็ดชาจากประเทศจีน

ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมัน และพืชน้ำมัน ศูนย์กลางชาน้ำมัน

        ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ก่อตั้งขึ้นในปี 2548 ตามพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นโรงงานผลิตน้ำมันจากเมล็ดชา และพืชน้ำมันอื่นๆ ที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภคเพื่อสุขภาพ เช่น มะรุม งา ทานตะวัน ฟักทอง ผักน้ำมัน และดอกคำฝอย

        ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ตั้งอยู่ เลขที่ 888 ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โทร. (053) 734-140-2ปัจจุบันมี คุณขวัญจิรา ชีวานนท์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์

        ศูนย์แห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัย ทดสอบในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับชาน้ำมัน โดยปัจจุบันได้เปิดรับผู้สนใจและนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ที่เกี่ยวข้องกับชาน้ำมันในทุกด้าน ไม่ว่าเรื่องราวการเดินทางชาน้ำมัน กระบวนการผลิตน้ำมัน และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากชาน้ำมัน ภายใต้ ตราสินค้า “ภัทรพัฒน์” นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์พืชน้ำมันอื่นๆ ที่มีอยู่ภายในศูนย์จำหน่ายด้วย

        โดยนับตั้งแต่ ปี 2554 ทางศูนย์ได้รับเมล็ดชาจากแปลงปลูกชาน้ำมันที่ดอยปูนะ และปางมะหัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง มาผลิตชาน้ำมันบรรจุขวด ขนาด 250 มิลลิลิตร ออกจำหน่าย และทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่น เครื่องสำอาง สบู่ แชมพูสระผม รวมถึงเป็นโรงงานต้นแบบที่ใช้พื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน

        ปัจจุบัน การก่อสร้างโรงงานหีบน้ำมันจากเมล็ดชาน้ำมันได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยจัดสร้างขึ้นบนที่ดินราชพัสดุ จำนวน 153 ไร่ 1 งาน 38.9 ตารางวา ที่ กรมธนารักษ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย ซึ่งกระบวนการผลิตชาน้ำมันภายในโรงงาน ซึ่งมีเครื่องหีบน้ำมัน จำนวน 3 ขนาด คือเครื่องหีบน้ำมันเพลาเดี่ยว (กำลังผลิต 120 กิโลกรัม/ ชั่วโมง), ชุดเครื่องหีบน้ำมันจากประเทศจีน (กำลังการผลิต 30 กิโลกรัม/ชั่วโมง) และเครื่องหีบน้ำมันขนาดเล็ก (กำลังผลิต 2 กิโลกรัม/ชั่วโมง)

        ชาน้ำมัน จึงนับเป็นอีกหนึ่งพระมหากรุณาธิคุณ ที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย

* * * * * *

รูปและบทความดีดีจาก







Kaset NANA เกษตร นานา : สาระมากมายเกี่ยวกับเกษตร
Powered by Blogger.