ข้าวหอมมะลิ 105 เมล็ดพันธุ์คุณภาพ
ข้าวหอมมะลิ 105 เมล็ดพันธุ์คุณภาพ
การจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นการต่อยอดระบบชลประทานที่มีอยู่ อันได้แก่ ระบบคลองส่งน้ำ สายใหญ่ สายซอย ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ในการกระจายน้ำ แต่การกระจายน้ำให้เข้าถึงในระดับไร่นาอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยเส้นเลือดฝอยหรือการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม.....จังหวัดสกลนคร เป็นจังหวัดที่กรมชลประทานได้เข้ามาทำการจัดรูปที่ดินฯ โดยจัดตั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจำนวนหลายโครงการของการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อกักเก็บและแพร่กระจายน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูก ซึ่งช่วยขจัดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงขาดฝนและในฤดูแล้ง รวมทั้งบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำอูนและลุ่มน้ำห้อยปลาหางตอนล่างของลุ่มน้ำสงคราม
โครงการจัดรูปที่ดินฯ น้ำอูน จังหวัดสกลนคร จะอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนน้ำอูน เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการกระจายสู่พื้นที่โครงการ ซึ่งประกอบด้วย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพังโคน อำเภอพรรณานิคม และอำเภอเมือง ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน 203,000 ไร่
พื้นที่การเกษตรที่ได้รับการจัดรูปที่ดินฯ ได้กลายสภาพคล้ายโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตพืชผลการเกษตรได้ตลอดเวลา อย่างน้อยที่สุด ก็สามารถทำการเกษตรได้ปีละ 2 ครั้ง
การจัดรูปที่ดินฯ พื้นที่ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม โดยมีน้ำต้นทุนจากเขื่อนน้ำอูนเข้ามาสนับสนุนในการทำการเกษตร ส่งผลทำให้พื้นที่ระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ ในพื้นที่อำเภอพรรณานิคมมีน้ำอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเกษตรได้ โดยเฉพาะอาชีพทำนาที่เดิมเคยทำได้ปีละ 1 ครั้ง มาเป็นปีละ 2 ครั้ง
คุณไพศาล เรืองสวัสดิ์ ประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เล่าให้ฟังว่า พื้นที่ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม ส่วนใหญ่จะใช้ทำการเกษตรปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งพืชหลักที่ปลูกนั้นจะเป็นข้าว โดยแต่ละปีพื้นที่บริเวณตำบลช้างมิ่งจะทำนาได้เพียงปีละครั้ง แต่หลังจากมีการจัดรูปที่ดินฯ ได้น้ำต้นทุนจากเขื่อนน้ำอูนเข้ามาสนับสนุน ทำให้พื้นที่อำเภอพรรณานิคมสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าวที่เดิมเคยทำได้ปีละ 1 ครั้ง ก็ทำได้เพิ่มเป็นปีละ 2 ครั้ง
คุณไพศาล เล่าต่อว่า ในอดีตเกษตรกรที่ปลูกข้าวในชุมชนส่วนใหญ่จะทำเก็บไว้เพื่อบริโภคมากกว่าที่จะผลิตเพื่อจำหน่าย เนื่องจากแต่ละปีการทำนาปลูกข้าวจะทำได้ปีละ 1 ครั้ง เพราะเนื่องจากปัจจัยการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ สภาพดินในพื้นที่ สภาพลมฟ้าอากาศที่ยังไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร ผลผลิตแต่ละปีก็มีน้อย จำเป็นต้องเก็บไว้บริโภคภายในครอบครัวให้ได้ตลอดปี ทำให้การผลิตเพื่อจำหน่ายยังไม่เกิดขึ้นในชุมชนเท่าที่ควร ถึงมีก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยังไม่หลากหลายเหมือนทุกวันนี้
การจัดรูปที่ดินฯ ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในระดับไร่นาที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่ซอกซอนเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยคูส่งน้ำ พร้อมทั้งคูระบายน้ำและถนน ทำให้น้ำเข้าถึง ส่งผลต่อการทำนาปลูกข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลช้างมิ่ง ซึ่งรวมถึงบ้านตาลเลียน สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง คือนาปีและนาปรัง
ส่งเสริมพันธุ์ข้าว ปลูกข้าวคุณภาพ
ด้วยความพร้อมของพื้นที่นี้เอง ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชที่ 18 กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 เพื่อใช้ทำเป็นเมล็ดพันธุ์ เพิ่มจากการผลิตข้าวเพื่อเก็บไว้บริโภคและจำหน่าย เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จะขายได้ราคาดีกว่าการทำนาปลูกข้าวทั่วไป อีกทั้งยังได้ข้าวคุณภาพเก็บไว้บริโภคได้อีกด้วย
พื้นที่นากว่า 1,200 ไร่ ของบ้านตาลเลียน ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ทำนาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จำหน่าย โดยมีสมาชิกเข้าร่วมจัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวกว่า 147 คน ส่งให้กับศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชที่ 18 กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อนำไปคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ ก่อนนำออกไปส่งเสริมให้กับเกษตรกร
เตรียมพื้นที่ดี แก้ปัญหาวัชพืช-ข้าวปน
การผลิตจะมีกระบวนการที่ยากกว่าการทำนาปกติทั่วไป เริ่มตั้งแต่การเตรียมดินเพาะปลูกจะต้องใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยเตรียมดินก่อนจะนำต้นกล้าที่เตรียมไว้ลงไปปักดำแทนการหว่าน เพื่อช่วยลดปัญหาของข้าวปน ตลอดจนปัญหาของวัชพืช ข้าวดีด ข้าวเด้ง ที่เป็นปัญหาหลักของเกษตรกรทั่วๆ ไป
การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 คุณไพศาลบอกว่า ต้องวางแผนการผลิตให้ดี โดยการเตรียมดินจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นของกระบวนการผลิต
“การทำนาข้าวเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ ค่อนข้างจะมีกระบวนการที่ยุ่งยากกว่าการทำนาทั่วไป โดยเฉพาะการเตรียมดิน ต้องไถพลิกหน้าดิน 1 ครั้ง ตีดิน 2 รอบ เพื่อให้เศษฟางที่ปะปนและวัชพืชที่อยู่ในพื้นดินตาย สามารถช่วยลดปัญหาข้าวดีด ข้าวเด้ง ที่รบกวนก็จะหมดลงได้”
หลังจากการเตรียมดินเสร็จสมบูรณ์ คุณไพศาล จะเริ่มนำต้นกล้าลงปลูกโดยใช้วิธีการปักดำแทนการหว่าน เพราะเนื่องจากการปักดำจะได้ต้นข้าวที่แข็งแรง กอแข็ง สมบูรณ์ ผลผลิตมีคุณภาพและปริมาณมากกว่าการทำนาหว่าน
การดูแลและการให้ปุ๋ย คุณไพศาล บอกว่า จะคอยเดินดูต้นข้าวว่ามีศัตรูธรรมชาติมารบกวนหรือไม่ อีกทั้งคอยกำจัดวัชพืชที่ขึ้นในบางวัน ส่วนปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยคอกและปุ๋ยชีวภาพผสมกันในช่วงที่ข้าวตั้งกอ
ส่วนการเก็บเกี่ยว คุณไพศาลจะใช้รถเกี่ยวนวดข้าวมาช่วยเก็บผลผลิตเหมือนกับการเก็บเกี่ยวข้าวทั่วไป ซึ่งผลผลิตเฉลี่ยแต่ละไร่ที่ได้ ประมาณ 70-80 ถัง (600-700 กิโลกรัม) จำหน่ายให้กับศูนย์ เพื่อนำไปคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ ในราคากิโลกรัมละ 25 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้ 15,000-17,000 บาท/ไร่ เมื่อนำมาหักลบกับต้นทุนการผลิต รวมทุกอย่าง ประมาณไร่ละ 3,300 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้หลังหักลบค่าใช้จ่าย ไร่ละ 12,000-14,500 บาท
สำหรับการซื้อ-ขายนั้น ทางศูนย์จะมีโควต้ารับซื้อข้าวของเกษตรกรรายละ 400 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือเกษตรกรจะนำไปสีเป็นข้าวสารเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน
“ในระยะ 4-5 ปี ที่ผ่านมา มีน้ำท่าจากเขื่อนน้ำอูนอุดมสมบูรณ์ดี ทำให้พื้นที่สามารถใช้ปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นนาปี นาปรัง ยกเว้นช่วงไหนแล้งจริงๆ กรมชลประทานประกาศงดส่งน้ำทำนาปรัง เกษตรกรก็จะหันไปปลูกพืชฤดูแล้ง เช่น มะเขือเทศ ถั่วลิสง มันฝรั่ง และข้าวโพด แทน” คุณไพศาลกล่าวทิ้งท้าย
“ฐานะของชาวบ้านที่นี่ไม่ยากจน ทุกคนมีข้าวกินตลอดปี ครบทุกมื้อ สามารถส่งลูกเรียนได้”
* * * * *
รูปและบทความดีดีจาก
Kaset NANA เกษตร นานา : สาระมากมายเกี่ยวกับเกษตร