Header Ads

Breaking News
recent

วิธีเลี้ยงปลาช่อน


ความแตกต่างระหว่างการเลี้ยงปลาช่อน ปลาช่อนเลี้ยงกับปลาช่อนธรรมชาติ

- ปลาช่อนนา หรือ ปลาช่อนตามธรรมชาติ จะมีสีเกล็ดได้หลายสี ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่อาศัย แต่ปกติปลาช่อนนาจะมีสีเกล็ดที่เป็นลายหรือมีสีเกล็ดค่อนข้างจางเหลือง ต่างจากปลาช่อนเลี้ยงที่มักมีสีเกล็ดดำสนิทไปทั่วลำตัว

- รูปร่างปลาช่อนนามักหัวค่อนข้างใหญ่ และยาว ปากค่อนข้างแบน ส่วนปลาช่อนเลี้ยงมักมีลำตัวอวบอ้วนได้สัดส่วน

- ปลาช่อนนา เมื่อผ่าท้องมักไม่พบไขมันติดลำไส้ ส่วนปลาช่อนเลี้ยงจะพบมีไขมันติดบริเวณลำไส้มาก

วิธีจับปลาช่อนตามธรรมชาติ

- การใส่เบ็ด โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เบ็ด (แท่งไม้ไผ่รัดด้วยเชือกค้องเบ็ด) ด้วยการใช้เหยื่อ เช่น ไส้เดือน ลูกปู ลูกอ๊อด เป็นต้น วิธีนี้มักใช้จับในฤดูหลังการทำนาจนถึงช่วงก่อนเก็บเกี่ยวข้าว

- การใส่หลุมดัก โดยการใช้ไห หรือ ถังน้ำขนาดเล็กที่มีปากแคบ ฝังบริเวณคันนาที่เชื่อมติดกับบ่อน้ำ ด้วยการขุดให้เป็นร่องแคบๆ และฝังไหบริเวณตรงกลางร่อง หรือค่อนมาทางบ่อน้ำ และโอบทาด้วยโคลนตามร่องให้เปียกชุ่ม วิธีนี้จะใช้ได้ผลในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวที่ระดับน้ำในคันนาเริ่มลด ทำให้ปลาช่อนอพยพปืนป่ายกลับเข้ามาอาศัยในแหล่งเก็บน้ำ ก่อนที่จะตกลงในไหหรือถังดัก

- การใช้แห มักใช้จับได้ตลอดฤดูกาล แต่นิยมใช้มากในช่วงฤดูแล้งที่ระดับลดลงมาก ทำให้จับได้ง่าย


การเลือกสถานที่เลี้ยงปลาช่อน ควรจะพิจารณาเป็นข้อๆดังนี้

1. ใกล้แหล่งน้ำจืด ที่สามารถใช้ได้ตลอดปี
2. น้ำไม่เป็นกรดหรือด่างมากจนเกินไป
3. ที่ดอน น้ำไม่ท่วม และเป็นที่ราบ
4. ดินเหนียว หรือปนทราย
5. คมนาคมสะดวก



วิธีเพาะพันธุ์ปลาช่อน

1. การเพาะเลียนแบบธรรมชาติ
          เป็นวิธีการเพาะพันธุ์ที่เลียนแบบธรรมชาติ ด้วยการเพาะในบ่อดิน ขนาดประมาณ 0.5-1.0 ไร่ และใช้วิธีจัดสภาพบ่อให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติ เช่น ปล่อยให้หญ้าหรือพืชน้ำขึ้นริมฝั่ง มีการปล่อยผักบุ้ง หรือพืชน้ำอื่นที่เหมาะสม อัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ 1:1ให้อาหารโดยใช้ปลาเป็ดผสมรำหรืออาหารสำเร็จรูป

2. การเพาะด้วยการผสมเทียม
          เป็นวิธีการเพาะโดยการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ และมักเพาะในบ่อซีเมนต์เพาะพันธุ์ปลา ด้วยการฉีดฮอร์โมนเร่งให้แม่ปลาวางไข่และรีดไข่มาผสมกับน้ำเชื้อที่รีดได้จากตัวผู้ หรือหลังการฉีดฮอร์โมนทั้งตัวเมีย และตัวผู้แล้วปล่อยให้ผสมกันเองตามธรรมชาติ ฮอร์โมนที่ใช้ ได้แก่ LHRHa หรือ LRH-a และใช้ร่วมกับ domperidone และไข่ปลาช่อนที่ผสมแล้วจะมีสีเหลือง ไข่จะลอยน้ำ และจะใช้เวลาฟักประมาณ 30-35 ชั่วโมง หลังการวางไข่


การอนุบาลลูกปลาช่อน

          การอนุบาลลูกปลาช่อนจะเริ่มให้อาหารภายหลังฟักออกจากไข่ประมาณวันที่ 4-5 หรือจนกว่าถุงไข่แดงจะยุบ โดยใช้ไข่แดงต้ม บดละลายน้ำ และกรองผ่านผ้าขาวบางให้ลูกปลากินวันละ 3 ครั้ง หลังจากนั้นประมาณวันที่ 6-8 ค่อยให้ไรแดงจนถึงอายุ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น ค่อยเริ่มให้อาหารเสริม เช่น รำละเอียด ปลาป่น และเนื้อปลาสดสับ ทั้งนี้ ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 1-2 วัน ในปริมาณน้ำที่ร้อยละ 50 ของทั้งหมด


การเตรียมบ่อเลี้ยงปลาช่อน

1. พื้นที่ใช้เลี้ยง ควรมีขนาดไม่ต่ำกว่าครึ่งไร่ โดยการขุดบ่อลึก 1.5 – 2 เมตร และทำคันบ่อสูงประมาณ 1 เมตร


2. หากเป็นบ่อเก่า ให้สูบน้ำ และเก็บปลาออกให้หมด หรือโรยโล่ติ๊นเพื่อกำจัดปลาที่หลงเหลือ พร้อมหว่านโรยด้วยปูนขาว อัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่ และตากบ่อนาน 7-10 วัน


3. ให้กั้นรั้วตาข่ายหรือไนล่อนบริเวณคันบ่อเพื่อป้องกันปลาช่อนกระโดดหนี

4. ปล่อยน้ำเข้าหรือรอฝนตกให้มีระดับน้ำ สูงประมาณ 20-30 ซม. แล้วค่อยใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 40-80 กิโลกรัม/ไร่


5. ปล่อยน้ำเข้าหรือให้ฝนตกจนมีระดับน้ำสูงประมาณ 0.5-1 เมตร แล้วค่อยปล่อยลูกปลาช่อน

การเลี้ยงปลาช่อนในบ่อ

          หลังจากอนุบาลลูกปลาช่อนให้ได้ขนาดความยาว 6-8 เซนติเมตร ก็สามารถนำมาปล่อยเลี้ยงในบ่อได้ อัตราการปล่อยที่ 40-50 ตัว/ตารางเมตร หรือประมาณ 65,000-80,000 ตัว/ไร่ โดยให้ใช้ฟอร์มาลีนเติมลงในบ่อ ที่ความเข้มข้นประมาณ 30 ppm (3 ลิตร/น้ำ 100 ลบ.ม.) ทั้งนี้ ในวันที่ที่ปล่อยลูกปลาไม่ต้องให้อาหาร และให้เริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น


การให้อาหารปลาช่อน

          อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาช่อน ได้แก่ ปลาเป็ดผสมรำหรือหัวอาหาร ในอัตราส่วนร้อยละ 70:30 ปริมาณการให้ที่ร้อยละ 4-5 ของน้ำหนักตัวปลา โดยการหว่านหรือวางอาหารบนตะแกรง และวางให้ลอยใต้ผิวน้ำ 2-3 เซนติเมตร ให้วางในหลายจุด

การจับปลาช่อนขาย

          เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 5-6 เดือน ปลาช่อนจะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม/ตัว หรือมากว่า หากต้องการจับจำหน่ายให้งดอาหาร 1-2 วัน ก่อนจับ การจับจะใช้วิธีการสูบน้ำออก และตีอวน แล้วค่อยสูบน้ำออกให้แห้ง และค่อยตามจับออกให้หมด


โรค และการป้องกัน

          1. โรคที่เกิดจากปรสิตที่มักพบ ได้แก่ เห็บระฆัง ปลิงใส หนอนสมอ ที่มักเห็นเกาะติดลำตัวเพื่อดูดกินเลือด หากมีจำนวนมากจะทำให้เกล็ดบริเวณนั้นหลุด ลำตัวผอม หัวโต และมีรอยแผลเป็นจุดตามลำตัว แก้ไขโดยการฉีดพ่นด้วยดิปเทอร์เรกซ์ 800 กรัม/ไร่ ปล่อยไว้ 2-3 วัน แล้วถ่ายน้ำใหม่ หรือนำมาแช่ในสารละลายฟอร์มาลีน 150-200 ซีซี/น้ำ 1,000 ลิตร ทิ้งไว้ประมาณ 1 วัน

          2. โรคท้องบวมหรือเกล็ดหลุด หรือเป็นแผลตามลำตัว ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แก้ไขโดยให้ใช้เทอรามัยซิน 2 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม

          3. โรคพยาธิภายใน เช่น พยาธิหัวหนาม ทำให้ปลามีลำตัวผอม และกินอาหารลดลง แก้ไขโดยใช้ยาถ่ายพยาธิผสมในอาหาร

* * * * *
ภาพประกอบ : คุณบวร หาวิรส
เลี้ยงปลาช่อนแล้วไม่มีที่ขาย ขายได้ที่
ตลาดกลาง "ซื้อ-ขาย ปลา-พันธุ์ปลา"
ที่สมาชิกเยอะที่สุด
VV คลิก VV

แชร์...ตรงนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV
Powered by Blogger.