Header Ads

Breaking News
recent

การขยายพันธุ์กล้วย


การขยายพันธุ์กล้วย

          การขยายพันธุ์ แบ่งออกเป็น 3 วิธีใหญ่ ๆ ดังนี้

1. โดยการใช้เมล็ด

          กล้วยกินได้บางต้นมีเมล็ด บางต้นไม่มีเมล็ด เมล็ดของกล้วย ส่วนใหญ่เกิดจากการผสมข้ามกับกล้วยต้นอื่นหรือพันธุ์อื่น ดังนั้นเมล็ดที่ได้อาจเกิดจากการผสมข้ามจะกลายเป็นลูกผสม ทำให้ต้นที่ได้ไม่ตรงกับต้นแม่นัก และเนื่องจากเมล็ดของกล้วยมีเปลือกหุ้มเมล็ดที่หนาและแข็ง ต้องใช้เวลานานมาก กว่าจะเพาะเมล็ดเป็นต้นได้ จึงไม่ค่อยนิยมการเพาะเมล็ดกล้วย ยกเว้นกล้วยนวลและกล้วยผาที่จำเป็นต้องเพาะเมล็ด เพราะต้นกล้วยชนิดนี้ไม่มีการแตกหน่อ

2. โดยการใช้หน่อ

          ปกติกล้วยมีการแตกหน่อจากตาข้างของต้นแม่ หน่อกล้วยมี 3 แบบใหญ่ๆ คือ

2.1 หน่ออ่อน (peeper) เป็นหน่ออ่อนมาก เกิดจากต้นแม่ที่ยังมีส่วนประกอบต่างๆ ไม่ครบ ส่วนของลำต้นเล็กมักจะอ่อนแอ ไม่เหมาะในการนำไปขยายพันธุ์

2.2 หน่อใบแคบ หรือ ใบดาบ (sword sucker) เป็นหน่อที่มีใบเรียวเล็ก โคนหน่อใหญ่ หรือมีส่วนของลำต้นใหญ่ จึงมีอาหารสะสมมาก หน่อชนิดนี้นิยมนำไปปลูกเพราะจะได้ต้นที่แข็งแรง

2.3 หน่อใบกว้าง หน่อชนิดนี้มีโคนหน่อหรือลำต้นเล็ก ใบคลี่โตกว้าง ไม่เหมาะที่จะนำไปปลูก เพราะมีอาหารสะสมในลำต้นน้อย ต้นที่ปลูกจากหน่อชนิดนี้จึงไม่แข็งแรง

          นอกจากหน่อทั้ง 3  ชนิดดังกล่าวแล้ว อาจใช้ต้นแม่ซึ่งมีตาติดอยู่ มาผ่าเป็นชิ้นๆ และชำก็ได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก

3. โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue culture)

          วิธีนี้กำลังเป็นที่นิยม เพราะเป็นวิธีที่ขยายพันธุ์ให้ได้จำนวนมากในเวลาอันสั้น จากหน่อที่สมบูรณ์ 1 หน่อ อาจขยายได้ถึง 10,000 ต้น ในเวลา 1 ปี ถ้าหากมีการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด วิธีนี้เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อการส่งออก เพราะว่าการส่งออกต้องการจำนวนต้นปลูกที่มีขนาดสม่ำเสมอ ปลูกพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีการเก็บเกี่ยวผลได้พร้อมๆ กัน และมีน้ำหนักมากกว่า 1 ตันขึ้นไป สำหรับบรรจุ ใส่ตู้ขนส่งในการส่งออก เนื่องจากการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศนั้น ถ้ามีจำนวนน้อยจะไม่เพียงพอกับการส่งออก และไม่คุ้มกับการลงทุน

ต้นอ่อนของกล้วยที่จะนำมาปลูกในบรรยากาศธรรมชาติ


วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย
          การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยเป็นวิธีการที่ไม่ยากนัก แต่ต้องลงทุนมาก เพราะจะต้องมีห้องที่ปลอดเชื้อ ตู้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และอาหารเพาะเลี้ยงที่มีสูตรอาหารพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่ของอาหารนั้นจะเลียนแบบอาหารที่พืชได้จากการปลูกแบบธรรมชาตินั่นเอง คือ จะต้องประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) และธาตุอาหารรอง คือ แมงกานีส (Mn) โซเดียม (Na) แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) กำมะถัน (S) เหล็ก (Fe) สังกะสี (Zn) ทองแดง (Cu) โบรอน (B) นอกจากนี้ยังต้องมีวิตามินปริมาณที่ใช้ตามสูตรอาหาร MS (Murashige & Skoog, 1962)  และฮอร์โมน เพื่อช่วยในการขยายพันธุ์ให้มีการแตกกอมากขึ้นคือ ฮอร์โมน BA (Benzyl Adenine) ในระดับความเข้มข้นที่เหมาะกับกล้วยประมาณ 3-5 ppm หรืออาจใช้น้ำมะพร้าวประมาณร้อยละ 15 ต่อปริมาตรของอาหารก็ได้ จะช่วยให้มีการแตกหน่อเพิ่มมากขึ้น สำหรับแหล่งของธาตุคาร์บอน (C) จะได้จากน้ำตาล โดยใช้น้ำตาลร้อยละ 2-4 โดยปริมาณ เมื่อผสมอาหารทุกอย่างแล้ว ปรับความเป็นกรดด่าง (pH) ที่ 5.6 - 6.8 โดยใช้ NaOH และ HCl ที่ความเข้มข้น 1 N หลังจากปรับแล้ว เติมวุ้น 4.5 - 8.0 กรัมต่ออาหาร 1 ลิตร บรรจุใส่ขวด ปิดฝา นึ่งในหม้อนึ่งฆ่าเชื้อที่ความดัน 15 ปอนด์ นาน  15-30 นาที ทิ้งไว้ให้เย็น เก็บไว้ 1-2 วัน แล้วจึงนำมาใช้เลี้ยงเนื้อเยื่อได้

          หน่อกล้วยที่จะนำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ใช้หน่อใบแคบ แล้วลอกกาบนอกออก จนเหลือหน่อที่มีขนาดประมาณ 1x1 นิ้ว ทำการฟอกฆ่าเชื้อโรคในสารละลายคลอรอกซ์แล้วล้างในน้ำกลั่น หลังจากนั้นจึงนำชิ้นส่วนของหน่อกล้วยเข้าทำงานในตู้เพาะเลี้ยง

          จากนั้นจึงลอกกาบกล้วยออกอีก จนมีขนาดประมาณ 1x1 เซนติเมตร แล้วผ่าออกเป็น 4 ส่วน  โดยผ่าให้ผ่านจุดเจริญของกล้วย และวางลงบนวุ้นอาหาร แล้วจึงนำขวดอาหารไปวางไว้ในห้องปลอดเชื้อที่มีแสง ประมาณ 3,000 ลักซ์ อุณหภูมิ 26-30 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นประมาณ 6-8 สัปดาห์ จะสังเกตเห็นว่า มีการแตกยอดอ่อนของกล้วยเกิดขึ้น ให้ทำการตัดแบ่งเนื้อเยื่อ ต่อไปทุกเดือน จนเมื่อได้จำนวนมากพอแล้ว นำมาออกรากในอาหาร MS ที่ไม่มีฮอร์โมนประมาณ 1 เดือน ต้นอ่อนของกล้วยก็จะออกรากพอประมาณ จึงนำย้ายออกปลูกในบรรยากาศธรรมชาติได้ โดยการนำขวดต้นอ่อนนั้นมาวางในบรรยากาศปกติก่อน 2-3 วัน เพื่อให้ต้นอ่อนปรับตัวเข้ากับบรรยากาศธรรมชาติ แล้วนำออกปลูกในเครื่องปลูกที่สะอาด ประกอบด้วยทราย : ดิน : ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก 1 : 1 : 1 อบฆ่าเชื้อ ทิ้งไว้ให้เย็นก่อนปลูก เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ หรือมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จึงนำไปปลูกลงในแปลงได้

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
          1. เพื่อเพิ่มปริมาณในระยะเวลาสั้น เพราะการเกิดหน่อตามธรรมชาตินั้น หากขยายพันธุ์จาก 1 ต้น จะให้หน่อไม่เกิน 10 หน่อ และเมื่อนำหน่อนั้นมาขยายพันธุ์ต่อๆ มา ใน  1 ปี จะได้หน่อจำนวนไม่เกิน 1,000 หน่อ แต่หากใช้วิทยาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณได้ถึง 10,000 หน่อ ซึ่งใช้เวลาเท่ากัน แต่จำนวนที่ได้จะต่างกันมากประมาณ 10 เท่า

          2. ได้ต้นพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค และแมลง ปกติหน่อพันธุ์ที่ขุดมาจากต้น มักจะมีโรคและแมลงที่ระบาดอยู่ในท้องถิ่นนั้นติดมาด้วย ทำให้การเจริญของหน่อชะงัก เจริญได้ไม่เต็มที่ และโรคบางชนิดอาจมาแพร่เชื้อ ทำให้เกิดการระบาดตามมา รวมทั้งแมลงบางชนิด เช่น หนอนเจาะลำต้น สามารถเจริญพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และระบาดเจาะไชลำต้นทำให้การเจริญของต้นไม่ดี หรือเมื่อเจริญขึ้นมาแล้วเกิดหักล้ม บางครั้งเมื่อออกดอกแล้วกำลังติดผล ต้นอาจจะล้มลง เกิดความเสียหายอย่างมาก

          การใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะไม่มีโรคและแมลงติดมาด้วย เพราะในการขยายพันธุ์ เราใช้จุดกำเนิดซึ่งอยู่ส่วนในสุดของลำต้น และเป็นส่วนที่สะอาด ไม่มีเชื้อโรค นำมาเพาะเลี้ยงในสภาพที่ปลอดเชื้อ คือ ในอาหารสังเคราะห์ และห้องปฏิบัติการที่ปราศจากเชื้อโรค จึงทำให้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสะอาด ปราศจากเชื้อโรคและแมลง ทำให้ต้นเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตเร็ว และมีคุณภาพ แต่ทั้งนี้ต้นที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะมิใช่ต้นที่ต้านทานต่อโรค

          3. เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ในการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติจำนวนมาก จะมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น แม้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน ถ้าหากต้นที่เกิดขึ้นมีลักษณะที่ดี ให้ผลผลิตดี ก็ควรส่งเสริมต่อไปเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่ถ้าไม่ดี ก็สามารถคัดทิ้งออกไปได้ การกลายพันธุ์อาจดูได้ตั้งแต่ ต้นขนาดเล็ก ถ้าเราไม่ต้องการ สามารถคัดทิ้งได้ แต่ถ้าต้องการทดสอบต่อไป ก็อาจปลูกให้ต้นโต และถ้าได้ลักษณะที่ดี ก็ขยายพันธุ์ต่อไปเป็นสายพันธุ์ใหม่

          นอกจากนี้ ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อาจทำถึงระดับเพาะเลี้ยงเซลล์และโพรโทพลาสต์ ซึ่งสามารถที่จะนำเอาโพรโทพลาสต์ ของกล้วยสายพันธุ์ที่ดีมาผสมกัน ทำให้เกิดพันธุ์ใหม่ได้เช่นเดียวกับพืชอื่นๆ

          4. เพื่อเก็บรักษาสายพันธุ์  การเก็บรักษาสายพันธุ์อาจทำได้โดยการลดอุณหภูมิให้ต่ำ หรือเก็บไว้ในไนโตรเจนเหลว เพื่อรักษาสายพันธุ์ไว้ใช้ได้ในระยะนาน และเมื่อต้องการก็สามารถนำออกมาปลูกได้

* * * * * *
ตลาดกลาง "ซื้อ-ขาย กล้วย"
ที่สมาชิกเยอะที่สุด
VV คลิก VV

แชร์...ตรงนี้  เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV
Powered by Blogger.