Header Ads

Breaking News
recent

การปลูกชมพู่


การปลูกชมพู่

          ชมพู่ เป็นไม้ผลเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย คนไทยนิยมปลูกตามบ้านและกินกันมานาน ผลชมพู่โดยส่วนใหญ่จะมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมฐานกว้างคือ ผลครึ่งบนด้านขั้วจะค่อนข้างเล็ก แล้วค่อยใหญ่ไปทางก้นผล มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ตรงปลาย เมื่อผ่าครึ่งตามยาวจะมีลักษณะคล้ายจมูกคน ชมพู่มีหลากหลายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ดั้งเดิมที่ปัจจุบันหาดูและหากินได้ยาก อย่าง ชมพู่พันธุ์น้ำดอกไม้, ชมพู่พันธุ์สาแหรก, ชมพู่พันธุ์มะเหมี่ยว หรือพันธุ์ที่มีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อการค้า เช่น ชมพู่พันธุ์เพชรสายรุ้ง, ชมพู่พันธุ์เพชรสามพราน, ชมพู่พันธุ์เพชรน้ำผึ้ง, ชมพู่พันธุ์ทูลเกล้า ส่วน วิธีการปลูกชมพู่ นั้น มีดังต่อไปนี้

1. การเตรียมแปลงปลูก
          ในการปลูกชมพู่สามารถปลูกได้ทั้งแบบยกร่องในที่ราบลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ซึ่งการปลูกแบบยกร่องนี้ส่วนหลังร่องกว้างประมาณ 3 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1 - 1.50 เมตร มีแนวชายร่องข้างละ 0.50 เซนติเมตร ซึ่งหลังยกร่องแล้วควรตากดินไว้ 1 เดือน แล้วจึงพลิกหน้าดินให้ดินล่างลงไปอยู่ด้านล่างและดินบนซึ่งถูกทับขณะขุดร่องกลับมาอยู่ด้านบนตามเดิม ช่วงพลิกดินนี้เองชาวสวนสามารถทำการปรับสภาพดินโดยใส่ปูนขาวและใส่ปุ๋ยคอกลงไปในดินได้เลย

          สำหรับพื้นที่ดอนควรไถพรวนพร้อมทำการปรับสภาพดินและใส่ปุ๋ยคอกไปเลย 

2. กำหนดระยะปลูก
- แบบยกร่องนั้น ส่วนใหญ่ใช้ระยะห่างระหว่างต้น 4 เมตร

- บนพื้นที่ดอนใช้ระยะ 4 * 4 เมตร หรือ 6 * 6 เมตร แล้วแต่สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ควรปลูกระยะ 6 * 6 เมตร

3. การเตรียมหลุมปลูก
          โดยทั่ว ๆ ไปหลุมปลูกชมพู่จะใช้ขนาด 50x50x50 กว้างxยาวxลึก โดยแยกดินหน้าไว้ข้างหนึ่งและดินล่างไว้อีกข้างหนึ่ง แล้วเอาปุ๋ยคอกประมาณ 50 กิโลกรัม ผสมกับหน้าดินอัตราส่วน 1 : 1 และปุ๋ยร็อคฟอสเฟต 500 กรัม กลบลงไปในหลุมจนพูน

4. การปลูกชมพู่
          นำต้นพันธุ์ชมพู่ที่คัดเลือกไว้แล้ว นำมาถอดภาชนะเพาะชำออกแล้ว ตรวจดูว่ามีรากขดหรือไม่แล้วขยายรากออก หันทิศทางของกิ่งให้เหมาะสม แล้วฝังลงในดินในหลุมที่เตรียมไว้ โดยให้ระดับสูงกว่าระดับดินเดิมเล็กน้อย แล้วนำดินล้างมาเติมบนปากหลุมจนพูน แล้วอัดดินให้แน่นปักไม้และผูกเชือกยึดลำต้น พร้อมปักทางมะพร้าวพรางแสงในทิศทางตะวันออกและตะวันตก เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่มทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นชมพู่ที่ปลูกใหม่เหี่ยวเฉาได้ หลังจากชมพูตั้งตัวได้แล้วจึงค่อยนำทางมะพร้าวออก

5. การให้น้ำชมพู่
          การให้น้ำชมพู่ เนื่องจากชมพู่เป็นพืชชอบน้ำ ดังนั้นในการผลิตชมพู่จึงจำเป็นต้องมีการให้น้ำชมพู่อย่างสม่ำเสมอ วิธีการให้น้ำย่อมแตกต่างไปตามวิธีการปลูก และสภาพพื้นที่ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 วิธี ใหญ่ ๆ ดังนี้

- เรือพ่นน้ำ วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการให้น้ำในร่องสวนในที่ราบลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก วิธีนี้ต้องคำนึงถึงความแรงน้ำที่จะพ่นออกมา ถ้าแรงเกินไปจะทำให้หน้าดินแน่นและเกิดการชะล้างปุ๋ยไปจากหน้าดิน

- สายยาง วิธีนี้เหมาะสำหรับการปลูกชมพู่ในที่ดอนและเป็นสวนขนาดเล็ก เป็นวิธีที่สะดวกแต่ต้องคอยเปลี่ยนตำแหน่ง และหลุมปลูกเป็นระยะ ๆ ไป ต้องคำนึงถึงแรงดันน้ำและปริมาณที่ให้ โดยต้องคำนึงถึงการชะล้างที่อาจจะเกิดที่บริเวณหน้าดินได้

- แบบหัวพ่นฝอย แบบมินิสปริงเกอร์ (Mini springker) วิธีนีนิยมกันมากวิธีหนึ่ง เพราะประหยัดแรงงานและเวลา และยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ลดการชะล้างของแรงน้ำที่มีต่อปุ๋ยในแปลง อีกทั้งสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ถูกต้อง นอกจากนี้วิธีนี้ยังสามารถให้ปุ๋ยผสมไปกับน้ำได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม ในการใช้ระบบน้ำต้องเสียค่าติดตั้งมากกว่าวิธีอื่น ๆ

6. วิธีการใส่ปุ๋ยชมพู่
- ปุ๋ยคอก นอยมหว่านในบริเวณทรงพุ่มและนอกทรงพุ่มเล็กน้อย ซึ่งควรมีการพรวนดินห่างจากชายทรงพุ่มออกไปเล็กน้อย ประมาณ 30 เซนติเมตร

- ปุ๋ยเคมี ขุดเป็นวงแหวนรอบชายทรงพุ่ม หรือเจาะเป็นหลุม ๆ ตามแนวทรงพุ่ม แล้วโรยปุ๋ยลงไปแล้วกลบดินเพื่อป้องกันการสูญเสียปุ๋ยไป โดยการระเหิดหรือถูกชะล้างโดยน้ำที่ให้หรือฝนตก

- ปุ๋ยทางใบ ควรผสมปุ๋ยตามฉลากแนะนำ ควรผสมสารจับใบ และควรทำการฉีดพ่นในช่วงเช้าก่อนแดดจัด ไม่ควรใช้ปุ๋ยทางใบในอัตราที่เข้มข้นมากเกินไป เพราะจะทำให้ชมพู่ใบไหม้ได้

7. การดูแลรักษาชมพู่
          ในการผลิตชมพู่เป็นการค้าเพื่อให้ได้ชมพู่มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรจำเป็นต้องมีการให้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับความต้องการของต้นชมพู่ สามารถจำแนกเป็น 2 ประเภท 

1 ปุ๋ยคอก ซึ่งนอกจากใส่เตรียมหลุมปลูกแล้ว เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยคอกอีกประมาณ 5 - 10 กก. / ต้น ชนิดปุ๋ยคอกแล้วแต่จะสามารถจัดหามาได้ เช่น ปุ๋ยมูลไก่ มูลหมู และมูลวัว เป็นต้น แต่ที่สำคัญของการให้ปุ๋ยคอกนั้น ปุ๋ยคอกทุกชนิดต้องสลายตัวเรียบร้อยแล้ว

2 ปุ๋ยเคมี สำหรับการใส่ปุ๋ยเคมีนี้เกษตรกรควรพิจารณาตามระยะการเติบโต และอายุของต้นชมพู่และปริมาณผลผลิตที่ให้ในฤดูกาลที่ผ่านมาด้วย ก็จะช่วยให้สามารถคำนวณปริมาณได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงแบ่งออกเป็น

2.1 สำหรับต้นชมพู่ที่ยังไม่ให้ผล ช่วงนี้ชมพู่ต้องการปุ๋ยเพื่อการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น กิ่ง ใบ เป็นหลัก ปุ๋ยเคมีควรใช้สูตรเสมอ เช่น 15 - 15 - 15 หรือ 16 - 16 - 16 โดยให้ปริมาณครึ่งหนึ่งของอายุต้น ดังนั้นชมพู่ที่ปลูกปีแรกควรให้ปุ๋ยเคมีประมาณ 500 กรัม โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝน 1 ครั้ง และปลายฤดูฝนอีก 1 ครั้ง

2.2 ในต้นที่ให้ผลแล้วอายุ 2 ปี ขึ้นไป

          ช่วงก่อนหลังเก็บผล ต้องมีการบำรุงต้น กิ่ง ก้าน ใบ ควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15 - 15 - 15 หรือ 16 - 16 - 16 ในอัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้นหรือประมาณ 500 กรัม / ต้น

          ช่วงก่อนออกดอก เพื่อให้ชมพู่ออกดอกมากขึ้นนั้น ควรใส่ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูง เช่น 12 - 24 - 12 หรือ 8 - 24 - 24 ในอัตราส่วน 200 - 300 กรัม / ต้น

          ช่วงพัฒนาผล หลังจากชมพู่ติดผลแล้วนั้น ผลจะมีการพัฒนาในระยะแรก จะมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้น เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยสูตร 15 - 15 - 15 หรือ 16 - 16 - 16 ปริมาณ 200 - 300 กรัม / ต้น หลังผลใหญ่ขึ้นแล้วก่อนที่เก็บผล 1 เดือน เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยตัวท้ายสูงเช่น สูตร 13 - 13 - 21 ปรือ 14 - 14 - 21 ปริมาณ 200 - 300 กรัม / ต้น

          ปุ๋ยทางใบ เป็นปุ๋ยที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ของการเจริญเติบโตของชมพู่ เช่น การใช้ไทโอยูเรีย เพื่อการเร่งให้ชมพู่แตกใบอ่อนพร้อมกัน หรือการพัฒนาผลชมพู่ให้มีคุณภาพดี ในพื้นที่บางแห่งที่มีน้ำไม่เพียงพอก็สามารถใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 15 - 30 - 30 อัตรา 20 กรัม / น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2 ครั้ง ควรห่างกันครั้งละ 7 วัน และไม่ควรงดการให้ปุ๋ยก่อนเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์

* * * * * *
แหล่งข้อมูล : Myveget.com

ตลาดกลาง "ซื้อ-ขาย ผลไม้"
ที่สมาชิกเยอะที่สุด
VV คลิก VV

แชร์...ตรงนี้  เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV
Powered by Blogger.