Header Ads

Breaking News
recent

เกษตรกรรม หมายถึง

เกษตรกรรม หมายถึง


     เกษตรกรรม (อังกฤษ: Agriculture) หมายถึง กระบวนการผลิตอาหาร เส้นใย เชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยวิธีการเพาะปลูกพืช มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "กสิกรรม" และวิธีการเลี้ยงสัตว์ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ อย่างเป็นระบบ ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเรียกว่า เกษตรกร


     แรงงานจำนวน 42% ของทั้งโลกอยู่ในภาคเกษตรกรรม จึงถือว่าเป็นกลุ่มอาชีพที่แพร่หลายที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมยังคงมีปริมาณเพียงไม่ถึง 5% ของผลผลิตมวลรวมของโลก (Gross World Product: GWP)


ประเภทของเกษตรกรรม

เกษตรกรรมแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
1. กสิกรรม หมายถึง การเพาะปลูกพืช เช่น การทำนา การทำสวน การทำไร่ เป็นต้น

2. ปศุสัตว์ หมายถึง การประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์บนบก เช่น เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู หรือเลี้ยงสัตว์จำพวกสัตว์ปีก เป็นต้น

3. การประมง หมายถึง การประกอบอาชีพการเกษตรทางน้ำ เช่น การเลี้ยงสัตว์น้ำ การจับสัตว์น้ำ เป็นต้น

4. ด้านป่าไม้ หมายถึง การประกอบอาชีพเกี่ยวกับป่า เช่น การปลูกป่าไม้เศรษฐกิจ การนำผลผลิตจากป่ามาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น


จุดเริ่มต้นในสมัยโบราณ

     การทำเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ในดินแดนแถบ Fertile Crescent โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นประเทศซีเรียและตอนใต้ของอิรักในปัจจุบัน เมื่อช่วงประมาณ 9,500 ปีก่อนคริสตกาล คนในสมัยนั้นเริ่มมีการคัดเลือกพืชอาหารที่มีลักษณะตามความต้องการเพื่อนำไปเพาะปลูก

     ประมาณ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล ระบบเกษตรกรรมขนาดเล็กได้แพร่เข้าไปสู่อียิปต์ ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็เริ่มมีการเพาะปลูกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ในอนุทวีปอินเดีย ซึ่งปรากฏหลักฐานในการขุดค้นแหล่งโบราณคดี Mehrgarh ในภูมิภาค Balochistan จนถึงเมื่อ 6,000 ปีก่อนคริสตกาล ในอียิปต์เริ่มมีการทำเกษตรกรรมขนาดกลางบนริมฝั่งแม่น้ำไนล์ และในช่วงเวลานี้ในภูมิภาคตะวันออกไกลก็มีการพัฒนาทางเกษตรกรรมในรูปแบบเฉพาะตน โดยจะเน้นเพาะปลูกข้าวเจ้าเป็นพืชผลหลักมากกว่าข้าวสาลี

* * * * *


ที่มา : วิกิพีเดีย
Powered by Blogger.