Header Ads

Breaking News
recent

โรคของพริก และการป้องกัน - โรคพริกที่เกิดจากไวรัส


โรคของพริก และการป้องกัน - โรคพริกที่เกิดจากไวรัส (pepper virus diseases)


     พริกเป็นพืชผักในกลุ่ม Solanacious เซ่นเดียวกับมะเขือเทศแต่อยู่ใน Genus Capsicumในประเทศไทยที่นิยมปลูกมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดทั้งเผ็ดและไม่เผ็ดเช่น พริกขี้หนู (bird chilli) พริกมันหรือพริกชี้ฟ้า (hot pepper) พริกหยวก (banana pepper) และพริกยักษ์ หรือพริกหวาน (bell pepper) แม้ว่าพริกจะเป็นพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารประเภทปรุงแต่งรส แต่ก็เป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจจัดอยู่ในกลุ่มของพืชอาหารหลักชนิดหนึ่งของชาวไทยสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศและตลอดปี ขณะเดียวกันก็ปรากฎว่ามีโรคและศัตรูหลายชนิดขึ้นเกาะกินทำลายทำให้เกิดความเสียหายทั้งคุณภาพและปริมาณเป็นจำนวนมากในแต่ละปีเช่นกัน


โรคพริกที่เกิดจากไวรัส (pepper virus diseases)
     พริกเป็นพืชที่ง่ายต่อการติดเชื้อไวรัสมาก โดยสามารถรับเชื้อไวรัสต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชอื่นได้เกือบทุกชนิด และก่อให้เกิดอาการเช่นเดียวกับโรคไวรัสในพืชอื่นทั่วๆ ไปเช่น ยอดตาหรือใบม้วนหงิก เป็นคลื่น หดย่น กุดด่างลาย เป็นดอกดวง เหลืองซีดชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น ฯลฯ virus ที่พบบ่อยและมากในกลุ่มของ virus พริกที่สำคัญ 3 ชนิด คือ CVMV, CMV, และ PVY

รายงานชนิดของไวรัสต่างๆ ที่พบและก่อให้เกิดความเสียหายในพริกได้แก่

1. Chilli veinal mottle virus (CVMV)
     CVMV ก่อให้เกิดอาการใบด่าง ด่างเขียวเป็นจุดๆ ด่างเขียวเป็นแถบบริเวณเส้น vein ใบหยุดย่นหงิกงอ หยุดการเจริญเติบโต อาจพบ CVMV เดี่ยวๆ หรือพบร่วมกับไวรัสอื่น

     CVMV จัดอยู่ในกลุ่ม Potyvirus ยาวประมาณ 750 nm. ถ่ายทอดได้ง่ายโดยวิธีกล มีเพลี้ยอ่อนหลายชนิด เช่น Aphis craccivora, A. gossypii, และ Myzus persicae เป็นพาหะแบบ non-persistent มีพืชอาศัยหลายชนิดในวงศ์ Solanaceaae เช่น Nicotiana tabacum, N. glutinosa, Datura sp., Petunia sp. Physalis sp. และมะเขือเทศ เป็นต้น

2. Potato virus Y (PVY)
     อาการหลังจากที่พริกได้รับเชื้อ PVY เริ่มต้นจากเส้นใบขยายบวมโตเด่นชัดขึ้น (vein clearing)ติดตามด้วยอาการด่างลายหดย่นขึ้นกับเนื้อใบต้นแคระแกรน ออกผลน้อย ขนาดเล็กกว่าปกติ บิดเบี้ยว บางครั้งเมื่อเป็นมากใบจะหลุดร่วงหมดทำให้ตายทั้งต้น PVY แพร่ระบาดได้ดีโดยเพลี้ยอ่อนบางชนิด และวิธีกล PVY เป็นไวรัสท่อนคดยาวประมาณ 730 nm.

3. Cucumber mosaic virus (CMV)
     ทำให้เกิดอาการใบด่าง Chlorotic vein banding ใบหดลีบเล็ก แคระแกร็น บางครั้งพบอาการจุดไหม้ ถ่ายทอดโรคได้โดยเพลี้ยอ่อนมากกว่า 60 ชนิด dodder มากกว่า 10 ชนิด และโดยวิธีกลเป็นไวรัสทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 nm. มีพืซอาศัยกว้างขวางมาก

4. Alfalfa mosaic virus (AMV)
     อาการบนต้นพริกจากการทำลายของไวรัสชนิดนี้มีหลายลักษณะเช่น แผลสีเหลือง ใบด่างลาย เกิดเป็นแผลวงแหวนกลม ใบจุด ต้นแคระแกร็น ให้ดอกติดผลน้อย ลดปริมาณผลผลิต Alfalfa mosaic virus ระบาดแพร่กระจายได้ดีโดยแมลงเพลี้ยอ่อนมากกว่า 13 ชนิด dodder อย่างน้อย 5 ชนิด และโดยวิธีกล

     AMV เป็น virus รูปร่าง bacilliform มีพืชอาศัยหลายชนิดในวงศ์ Solanaceae และวงศ์ถั่ว

5. Potato virus X (PVX)
     พริกที่ปลูกใกล้เคียงบริเวณที่มีการปลูกมะเขือเทศ มันฝรั่ง มักจะติดเชื้อไวรัสนี้ โดยจะก่อให้เกิดอาการใบด่างลายมีสีเหลืองสลับเขียว ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นสีเหลืองทั้งใบ แล้วแห้งตายอย่างรวดเร็ว โรคอาจลุกลามไปยังกิ่งก้านอื่นทั่วต้นก่อให้เกิดอาการแคระแกร็นใบร่วงพริกที่เป็นโรคนี้ผลได้จะลดลงหรือไม่ได้ผลเลย

     ถ่ายทอดโรคโดยวิธีกล และ grass hopper จัดเป็น virus ในกลุ่ม potex virus ยาวประมาณ 515 nm.

6. Tobacco etch virus (TEV)
     TEV ก่อให้เกิดอาการแผลลักษณะเป็นวงเรียงซ้อนกัน (concentric ring) บนใบและผลพริก โดยเนื้อเยื่อตรงส่วนที่เป็นวงจะแห้งตายเป็นสีเหลืองตัดกับส่วนในที่จะคงเขียวเป็นปกติ บนผลพริกหากเกิดอาการมากๆ จะบิดเบี้ยวและหดเสียรูป ส่วนใบอ่อนที่เพิ่งแตกจะมีขนาดหดเล็กลงด่างและย่น ในรายที่เป็นรุนแรงส่วนรากที่อยู่ในดินจะถูกทำลายเสียหายไปด้วยและกลายเป็นสีนํ้าตาล

     แพร่ระบาดได้ดีโดยเพลี้ยอ่อนมากกว่า 10 ชนิด สำหรับการอยู่ข้ามฤดูส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับวัชพืชบางชนิดในบริเวณใกล้เคียง

การป้องกันกำจัด
     การป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสมีหลักใหญ่ๆ ที่ควรยึดถืออยู่ 3 ประการด้วยกันคือ

     1. หลีกเลี่ยงการปลูกพริกที่อ่อนแอหรือง่ายต่อการติดเชื้อลงในดินปลูกที่เคยมีโรคหรือใกล้กับพืชที่สามารถติดต่อโรคกันได้เช่น มะเขือเทศ ยาสูบ มันฝรั่ง

     2. พยายามขจัดทำลายต้นตออันเป็นแหล่งกำเนิดของโรคตลอดจนพืชอาศัยและวัชพืชต่างๆ ซึ่งอาจเป็นสื่อหรือที่อาศัยชั่วคราวของเชื้อ อย่าให้มีหลงเหลืออยู่บริเวณแปลงปลูก

     3. ป้องกันการระบาดและการติดเชื้อ เช่นทำลาย หรือป้องกันการระบาดของแมลงที่เป็นตัวนำและถ่ายเชื้อ ทั้งเรื่องการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์เกี่ยวกับการกสิกรรมต้องแน่ใจว่าสะอาดอยู่เสมอ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการสัมผัส จับต้องต้นพืชที่เป็นโรค หากจำเป็นต้องใช้ต้องล้างให้สะอาดเสียก่อนที่จะไปปฏิบัติกับต้นอื่นต่อไป

* * * * * *
โดย : Kaset NaNa เกษตรนานา

ลิ้งค์ที่น่าสนใจ


Powered by Blogger.