ปลูกมะเขือเทศบริโภคสดอย่างไรให้ได้ราคาดี
ปลูกมะเขือเทศบริโภคสดอย่างไรให้ได้ราคาดี
ส้มตำ นับได้ว่าเป็นอาหารจานโปรดของใครหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศไทยของเราเองหรือชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในบ้านเรา จนเป็นที่กล่าวขานและรู้จักส้มตำไปทั่วโลก คนที่กำลังมองหาวิธีลดน้ำหนักเชื่อว่าการรับประทานส้มตำ จะมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ส้มตำมีหลายรูปแบบ และมีส่วนประกอบของเครื่องปรุงหลายอย่างแตกต่างกันไป แล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคลและเหมาะกับวัฒนธรรมการรับประทานของแต่ละภาค ส้มตำไทย ไม่ใส่ปลาร้า ใส่กุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่ว ส้มตำปู ใส่ปูเค็ม รสชาติออกเค็มนำ ส้มตำปลาร้า ใส่ปลาร้านิยม รับประทานกันมากในภาคอีสาน และที่จะขาดไม่ได้คือ มะเขือเทศที่จะเพิ่มรสชาติเปรี้ยวหวานให้ส้มตำมีความอร่อยมากยิ่งขึ้นมะเขือเทศที่ปลูกในปัจจุบันแบ่งเป็น มะเขือเทศรับประทานผลสด และมะเขือเทศอุตสาหกรรม มะเขือเทศบริโภคสดส่วนใหญ่เป็นพันธุ์สีดา ในปี 2551 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูก 52,000 ไร่ ผลผลิต 191,000 ตัน ในปี 2552 การส่งออกมะเขือเทศสดมีมูลค่า 118 ล้านบาท ซอสมะเขือเทศ มูลค่า 188.6 ล้านบาท มะเขือเทศสามารถเจริญเติบโตทางด้านลำต้น ใบ และออกดอกได้ดีตลอดทั้งปี แต่การติดผลต้องการสภาพอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิกลางวันที่เหมาะสมอยู่ที่ระหว่าง 25 - 30 องศาเซลเซียส กลางคืนประมาณ 16 - 20 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิกลางคืนสูงกว่า 22 องศาเซลเซียส จะทำให้ไม่ติดผลหรือติดผลได้น้อยมาก ฝนและความชื้นสูงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้โรคทางใบและทางรากระบาดรุนแรง
ฤดูปลูกมะเขือเทศที่เหมาะสมที่สุดจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว ทำให้มะเขือเทศมีปริมาณมาก ราคาตกต่ำ ดังนั้น ควรวางแผนการปลูกให้มะเขือเทศสามารถออกผลผลิตได้ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม โดยต้องเริ่มปลูกในช่วงเดือนสิงหาคม แต่ในช่วงดังกล่าวจะมีฝนตกชุก เกษตรกรที่ต้องการผลิตมะเขือเทศให้ได้ผลผลิตสูงและขายได้ราคาดี จึงจำเป็นต้องรู้จักคิดและวางแผนการปลูกให้มีผลผลิตออกตรงช่วงที่ราคาสูง เช่นกลุ่มเกษตรกรที่บ้านห้วยเตย หมู่ 9 และหมู่ 16 บ้านเกษตรก้าวหน้า หมู่ 22 ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีอ่างเก็บน้ำห้วยเตย อยู่ทางตอนใต้ของตำบล สามารถหล่อเลี้ยงพื้นที่ทำการเกษตรของหมู่บ้านได้ตลอดทั้งปี
สภาพพื้นที่ มีเนื้อเป็นดินร่วนปนทราย ที่ดอนปลูกมันสำปะหลังและอ้อย บริเวณใกล้แหล่งน้ำปลูกพืชผัก เช่น มะเขือเทศ พริก มะเขือเปราะข้อได้เปรียบของพื้นที่ คือ แปลงอยู่ห่างจากตลาดศรีเมืองทองซึ่งเป็นตลาดขายส่งพืชผักในตัวเมืองขอนแก่นประมาณ 15 กิโลเมตร เกษตรกรเก็บผลผลิตส่งขายตลาดโดยตรง ทำให้ขายได้ราคาดี ซึ่งราคาขายส่งตลาดศรีเมืองทองใกล้เคียงกับราคาขายส่งในกรุงเทพฯ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง เป็นต้น จึงได้เปรียบในด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรในอำเภออื่นๆ รอบนอก
ภายในระยะเวลา 1 ปี เกษตรกรสามารถปลูกมะเขือเทศได้ 3 ฤดูปลูก ครั้งที่ 1 ฤดูแล้งเริ่มเพาะกล้าเดือนมกราคม ปลูกเดือนกุมภาพันธ์ เก็บเกี่ยวเดือนเมษายน ครั้งที่ 2 ต้นฤดูฝนเริ่มเพาะกล้าเดือนพฤษภาคม ปลูกเดือนมิถุนายน เก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคม และครั้งที่ 3 ปลายฤดูฝนเริ่มเพาะกล้าเดือนสิงหาคม ปลูกเดือนกันยายน เก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งแต่ละฤดูปลูกอาจจะเหลื่อมเวลาตามความพร้อมของเกษตรกรและความเหมาะสมของสภาพอากาศขณะนั้น ซึ่งราคามะเขือเทศเฉลี่ยในแต่ละเดือนจะแตกต่างกันจะได้ราคาสูงที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม–ธันวาคม
การปลูกมะเขือเทศพื้นที่ตำบลท่าพระ มีปัญหาการผลิตคือ ในฤดูแล้งพบปัญหาโรคเหี่ยวเขียว หนอนเจาะผล และผลเน่าสีดำและไส้เดือนฝอย ส่วนฤดูฝน พบปัญหา โรคใบด่าง โรคใบไหม้ หนอนเจาะผล และผลเน่าดำ เกษตรกรไม่มีความรู้ในการแยกแยะปัญหาที่เกิดขึ้น การปฏิบัติเดิมของเกษตรกรเมื่อเกิดโรค เช่น โรคเหี่ยวเขียว เหี่ยวเหลือง โรคผลเน่าสีดำหรือโรคปลายผลเน่าดำ จะปล่อยทิ้งในแปลงหรือถอนต้นที่เป็นโรคแล้วปล่อยทิ้งในแปลง ไม่มีการเก็บชิ้นส่วนพืชที่ถูกโรคแมลงทำลายออกไปเผาทิ้งนอกแปลง ปล่อยผลเน่าไว้ในแปลง ก่อให้เกิดการสะสมเชื้อโรคและแพร่ขยายในแปลง นอกจากนั้นเกษตรกรจะฉีดพ่นสารเคมีโดยถือหลักฉีดป้องกันไว้ก่อนทั้งที่ยังไม่มีลักษณะอาการเกิด หรือการเข้าทำลายของโรคแมลง ทำให้มีการใช้สารเคมี มากเกินความจำเป็น เมื่อเจ้าหน้าที่สุ่มเก็บผลผลิตไปตรวจเพื่อขอรับรองแปลง GAP จึงมักจะพบสารตกค้างในผลผลิต ที่พบมากคือคลอไพรีฟอส และไซเปอร์เมทริน
การพัฒนาการผลิตมะเขือเทศ
ในปี 2551-2553 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ได้ดำเนินการพัฒนาการผลิตมะเขือเทศเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพการผลิตมะเขือเทศให้ปลอดภัยจากสารพิษ โดยมีกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกมะเขือเทศอาสาเข้าร่วมทดสอบ นำเอาหลักการเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับมะเขือเทศ Good Agriculture Practice (GAP) ของกรมวิชาการเกษตร มาปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพการผลิตของตนเอง ได้เน้นให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยพืชโดยเฉพาะความสะอาดแปลงปลูกเก็บเศษซากพืชที่โดนทำลายออกไปเผาทิ้งนอกแปลง การตรวจวินิจ-ฉัยหาสาเหตุของโรค และแมลงที่เข้าทำลายต้นพืช เพื่อที่จะป้องกัน และใช้สารเคมีในการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงตามสาเหตุที่พืชโดนทำลาย
การปลูกมะเขือเทศ
พันธุ์มะเขือเทศที่เกษตรกรเลือกปลูก คือ พันธุ์ลูกผสม เพชรชมพู โดยมะเขือเทศพันธุ์ดังกล่าวค่อนข้างมีความต้านทานต่อโรคเหี่ยวเขียวให้ผลผลิตสูง และที่สำคัญคือผู้ขายส้มตำนิยมนำมะเขือเทศพันธุ์นี้ไปเป็นส่วนผสมในการทำส้มตำ การเพาะกล้าทำได้โดยทำแปลงกว้างประมาณ 1 เมตรโรยเมล็ดตามขวางของแปลงเพาะ ถอนแยกเมื่อต้นกล้าอายุ 7-10 วัน ลงถาดเพาะหลุมละ 1 ต้น วัสดุในถาดเพาะมีเพียง แกลบดิบเก่า : ดินจอมปลวก : ปุ๋ยคอก อัตรา 8 : 1 : 1 เพื่อให้โปร่งระบายน้ำได้ดี รดน้ำวันละ 2- 3 ครั้ง ในแปลงปลูกเตรียมดินโดยไถดิน 1-2 ครั้ง แต่ละครั้งตากดินทิ้งไว้ 7-14 วัน ผลการวิเคราะห์ดินแปลงปลูกของเกษตรกร ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) อยู่ระหว่าง 4.9- 5.6 ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมในการเกิดโรคในดิน เช่น รากเน่า โคนเน่า จึงใส่ปูนขาวในอัตรา 100 - 200 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อให้ค่า pH ของดินสูงขึ้นเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ
เมื่อต้นกล้าอายุ 25 - 30 วันปลูก โดยคัดต้นกล้าที่สมบูรณ์ ย้ายลงหลุมที่เตรียมไว้ปลูกแบบแถวเดี่ยวระยะระหว่างต้น 30 - 40 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยหมักแห้งผสเชื้อไตรโครเดอร์มาสดอัตรา 150 - 250 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจาเชื้อราในดิน เช่น ราเน่า โคนเน่าหลังปลูกได้ 15 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 15 – 15 - 15 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่ออายุ 1 เดือนปักหลักขึงเชือกกันต้นล้ม และใส่ปุ๋ยสูตร 15 – 15 - 15 อัตรา 80 กิโลกรัมต่อไร่ ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ อายุ 45 - 50 วัน ขึงเชือกสูงขึ้นมาอีกเป็นชั้นที่ 2 พ่นสารแคลเซียม-ไนเตรท อัตรา 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตรช่วงติดผลเล็ก และพ่นแคลเซียมไนเตรทอัตรา 40-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ระยะติดผล 2 ครั้ง หรือเมื่อพืชเริ่มแสดงอาการขาดธาตุอาหารรอง
การดูแลรักษามะเขือเทศ
การป้องกันกำจัดศัตรูพืช โรคเหี่ยวเขียว เหี่ยวเหลือง ใช้ปูนขาวปรับสภาพดิน รองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้งผสมเชื้อไตรโครเดอร์มาอัตรา 200 - 300 กิโลกรัมต่อไร่ ถอนต้นที่เป็นโรคแล้วเผาทำลายใช้น้ำปูนใสรด หลุมที่เป็นโรคและต้นใกล้เคียง งดให้น้ำแบบปล่อยน้ำไหลตามร่อง โรคผลเน่าสีดำหรือโรคปลายผลเน่าดำ เพิ่มธาตุแคลเซียมแก่มะเขือเทศโดยการพ่นทางใบเมื่อมะเขือเทศเริ่มติดผล พ่นสารแคลเซียมไนเตรท อัตรา 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อพบผลเน่าเก็บเผาทำลายนอกแปลง หนอนเจาะสมอฝ้าย พ่นเชื้อ BT อัตรา 60 - 80 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร สลับสารสกัดสมุนไพร จำนวน 1 - 2 ครั้ง เก็บตัวหนอนตอนกลางคืนมาทำลาย พ่นสารฟิโปรนิล อัตรา 20 - 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 1 ครั้ง เก็บผลผลิตที่โดนหนอนเจาะออกนอกแปลง
การเก็บเกี่ยวมะเขือเทศ
หลังปลูกประมาณ 60 วัน เริ่มเก็บผลผลิตที่เริ่มสุกเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน นำมาคัดเลือกผลที่ไม่มีตำหนิจากการทำลายของโรค และแมลง คัดขนาดผลที่ใกล้เคียงกันบรรจุลังพลาสติก ลังละ 25 กิโลกรัม ส่งขายเองที่ตลาดศรีเมืองทอง ซึ่งเป็นตลาดขายส่งพืชผักห่างจากแปลงประมาณ 15 กิโลเมตร ขายส่งกิโลกรัมละ 10 - 45 บาท ผลผลิตมะเขือเทศในช่วงฤดูแล้ง (เก็บขายช่วงเดือนเมษายน) ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3.7 - 4.0 ตันต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 10 - 15 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงต้นฤดูฝนจะได้ไม่ดีนัก (เก็บขายช่วงเดือนสิงหาคม) ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2.7 ตันต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 12 - 20 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนผลผลิตในช่วงปลายฤดูฝน (เก็บขายช่วงเดือนพฤศจิกายน) ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3.6 - 4.6 ตันต่อไร่ ราคาเฉลี่ย 25 - 45 บาทต่อกิโลกรัม
ต้นทุนการผลิตและผลตอบแทน
ต้นทุนการผลิตมะเขือเทศ เฉลี่ยประมาณ 7,500 - 9,800 บาทต่อไร่ ซึ่งต้นทุนแตกต่างกันในแต่ฤดู ในช่วงฤดูฝนจะมีปัญหาในเรื่องโรคและแมลงมาก ทำให้มีต้นทุนในเรื่องของสารป้องกันกำจัดทั้งสารเคมีและสารชีวภาพสูงกว่าฤดูอื่น นอกจากนั้นจะเป็นต้นทุนด้านอื่น ๆ เช่น ค่าจ้างแรงงาน ซึ่งมีตั้งแต่ จ้างปลูก ค่าจ้างกำจัดวัชพืชใส่ ค่าจ้างเก็บผลผลิต และค่าปุ๋ยเคมี การนำเอาหลักการเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับมะเขือเทศ GAP มาปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพการผลิตของเกษตรกร พบว่าต้นทุนการใช้สารเคมีจะลดลงร้อยละ 75 - 84 และในการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในผลผลิตไม่พบสารพิษตกค้างเลย ในด้านผลกำไร ต้นฤดูฝนผลผลิตออกค่อนข้างน้อยเป็นช่วงที่อากาศร้อนในเดือนเมษายนผลกำไรได้น้อยที่สุดเฉลี่ย 25,000 บาทต่อไร่ ส่วนปลายฤดูฝนจะได้ผลกำไรสูงที่สุด เฉลี่ย 69,000 บาทต่อไร่ ในบางปีถ้าสามารถดูแลรักษาให้ได้ผลผลิตดีและตรง ช่วงที่ผลผลิตราคามะเขือเทศสูงถึงกิโลกรัมละ 40-45 บาท จะได้ผลกำไรถึง 140,000 บาทต่อไร่เลยทีเดียว
การวางแผนการผลิตมะเขือเทศให้ได้ราคาดี
นายนุสรณ์ สุวรรณอาสา หนึ่งในเกษตรกรที่ร่วมทดสอบในโครงการทดสอบชุดเทคโนโลยีการผลิตมะเขือเทศในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 มีแนวคิดว่าการผลิตมะเขือเทศพื้นที่ของตัวเอง มีศักยภาพการผลิตค่อนข้างสูง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีอยู่ใกล้ตลาดขายส่งพืชผักที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด โดยปลูกมะเขือเทศพร้อมกัน 1 - 2 แปลง แปลงละ 5 - 7 ไร่ ซึ่งเหลื่อมเวลาต่างกันประมาณ 1 - 2 เดือน โดยคาดการณ์ราคาผลผลิตที่ให้ราคาสูงในแต่ละช่วงของปี ซึ่งคาดการณ์ว่าช่วงที่ได้ราคาดีคือ ช่วงแรกเปิดเทอมต้น เดือนมิถุนายนช่วงที่สองช่วงเข้าพรรษา เดือนกรกฎาคม และช่วงที่สามช่วงเก็บเกี่ยวข้าวเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม
นายอนุสรณ์ฯ จึงวางแผนปลูกให้มะเขือเทศออกผลผลิตเก็บขายได้ราคา ซึ่งโดยมากช่วงผลผลิตราคาสูงจะปลูกค่อนข้างยาก เช่นในช่วงการผลิตให้ออกผลผลิตในช่วงเดือนมิถุนายน ต้องปลูกต้นเดือนเมษายน ซึ่งอุณหภูมิสูง ไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ ต้องมีการพรางแสงไม่ให้ร้อนเกินไป หรือช่วงเก็บเกี่ยวข้าวจะต้องปลูกเดือนกันยายน ซึ่งปริมาณฝนตกชุกดูแลรักษาต้นมะเขือเทศยากทั้งโรค และแมลงรบกวนดังนั้น จึงเห็นว่าการนำเอาเทคโนโลยีการผลิตมะเขือเทศแบบผสมผสานตามหลัก GAP ใส่ปุ๋ยหมักปรับปรุงบำรุงดิน ใส่ปูนขาวปรับสภาพดินเน้นความสะอาดแปลงปลูก เก็บเศษซากพืชที่โดนทำลายออกไปเผาทิ้งนอกแปลง สังเกตวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคและแมลงที่เข้าทำลายต้นพืชมีการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง แก้ไขปัญหาได้ตรงตามสาเหตุที่พืชโดนทำลาย จะช่วยให้สามารถดูแลแปลงให้ได้ผลผลิตดีขึ้น ดังเช่นในฤดูการผลิตปลายฤดูฝนปี 2551 กลุ่มเกษตรกรตำบลท่าพระผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ แต่ในพื้นที่อื่นๆ ไม่สามารถผลิตได้ ทำให้ราคามะเขือเทศสูงถึง 35 - 45 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรที่ปลูก 5 - 7 ไร่ จึงมีรายได้ 7 แสนถึง 1 ล้านบาท
จากเรื่องราวของมะเขือเทศ ที่ได้นำมาบอกเล่าให้กับผู้อ่าน นับว่าเป็นการใช้ความรู้ และประสบการณ์ที่สังสมมาเป็นระยะเวลานานของเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศในพื้นที่จริง เพื่อเป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรอีกอาชีพหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ และเชื่อว่ากว่าจะมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จเช่นนี้จะต้องผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มามากมาย ต้องมีการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกและมีการวางแผน ปรับปรุง พัฒนาการปลูกมะเขือเทศอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องจนสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนั้น ที่สำคัญไปกว่านั้นยังทำให้ผู้ที่ปลูกมะเขือเทศรายอื่นนำไปเป็นแบบอย่างได้อีกด้วย
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000 หรือโทรศัพท์ได้ที่เบอร์ 0 432 03500 - 1 ในวัน เวลา ราชการ
ซื้อ-ขาย "มะเขือเทศ" ได้ที่
VVVVV
กลุ่มเฟซบุ๊ก : ตลาดกลาง ซื้อ-ขายสินค้า เกษตร
* * * * *
ที่มา : กรมวิชาการเกษตรขอขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
แชร์...ตรงนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV