Header Ads

Breaking News
recent

ทำนารูปแบบใหม่ “ปลูกในกระถาง” มีข้าวกินตลอดปีในเนื้อที่จำกัด (ไร่ละ 9 ตัน/ปี)


ทำนารูปแบบใหม่ “ปลูกในกระถาง” มีข้าวกินตลอดปีในเนื้อที่จำกัด (ไร่ละ 9 ตัน/ปี)

          ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการปลูกพืชผักไว้รับประทานเองของผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง เพราะด้วยข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่ ยิ่งเป็นพืชอย่าง “ข้าว” ด้วยแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าการทำนาข้าวต้องใช้เนื้อที่ขนาดใหญ่ อีกทั้งยังต้องมีความเหมาะสมทั้งลักษณะของดินและลักษณะของพื้นที่ที่ต้องกักเก็บน้ำได้ รวมถึงการเตรียมดินและการเพาะปลูกก็ค่อนข้างยุ่งยาก ทำให้การปลูกข้าวไว้รับประทานเองจึงเป็นเรื่องยากและเป็นไปไม่ได้จริง ๆ



          แต่สำหรับเกษตรกรหัวใสอย่าง คุณสังคม น้อยสงวน ซึ่งได้พัฒนา วิธีการ “ปลูกข้าวในกระถาง” ร่วมกับ ดร.สมชาย ฐานเจริญ ซึ่งได้กำจัดข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่ไปอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ว่าอยู่ที่ไหน ลักษณะพื้นที่จะเป็นอย่างไรก็สามารถปลูกข้าวได้ ซึ่งการปลูกข้าวในกระถางยังเป็นวิธีการที่ง่าย ไม่ต้องไถเตรียมดินเหมือนปลูกในแปลงขนาดใหญ่ ที่สำคัญปีหนึ่งปลูกได้หลายรอบ ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ของการปลูกข้าวในกระถางสูงกว่าการปลูกในแปลงนากว่าเท่าตัวเลยทีเดียว


          “การปลูกข้าวหรือทำนาในกระถาง ก็คือการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือกล้าข้าวมาปลูกลงกระถาง คล้ายกับการปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั่วไป ซึ่งเป็นวิธีง่าย ๆ ทั้งยังจัดการปัจจัยต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมกับข้าวได้ไม่ยาก ทำให้ทุกสภาพพื้นที่ปลูกข้าวได้ทั้งยังได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ให้สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกข้าวไว้รับประทานเอง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเมืองที่มีพื้นที่ไม่มากนัก หรือมีพื้นที่เป็นคอนกรีต ดาดฟ้า แม้แต่ระเบียงก็ปลูกได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ตามชนบทไม่มีที่นาก็สามารถนำวิธีนี้ไปปลูกข้าวไว้รับประทานเองได้ด้วย”


          สำหรับวิธีการทำนาในกระถาง เริ่มจากการเตรียมกระถางที่นำมาใช้ปลูก ซึ่งใช้กระถางพลาสติกปากกว้างประมาณ 12 นิ้ว ราคาอยู่ที่ใบละ 10 บาท เกษตรกรอาจใช้ภาชะอื่นอย่างเช่ง ถัง กะละมัง หรือวัสดุเหลือใช้ที่มีขนาดพอเหมาะไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป มาใช้แทนกระถางก็ได้ ซึ่งก็ช่วยให้ต้นทุนการปลูกข้าวในกระถางลดลง แต่ทว่าจัดการได้ค่อนข้างยากถ้าหากปลูกจำนวนมาก ๆ


          ส่วนดินที่นำมาใช้ปลูก ก็ใช้ดินจากพื้นนา แล้วนำมาคลุกเคล้ากับส่วนผสมที่เป็นปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักจุลินทรีย์ (EM) ก็ทำให้ได้ดินที่เหมาะสมกับการใช้ปลูกข้าวในกระถาง ทั้งนี้การใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ผสมกับดินปลูก นอกจากช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้กับต้นข้าวใช้ในการเจริญเติบโตแล้ว ยังช่วยกำจัดวัชพืชอย่าง ตะไคร่ เครือเถาล์ และหญ้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระถางปลูกได้ด้วย เนื่องจากน้ำหมักจุลินทรีย์ช่วยป้องกันไม่ให้แสงส่องทะลุถึงผิวดินในกระถาง เมื่อวัชพืชไม่ได้รับแสงจึงไม่มีแหล่งพลังงานจึงเจริญเติบโตไม่ได้


          จากนั้นก็ต่อท่อเล็ก ๆ ไว้ที่บริเวณปากกระถางทุกใบสำหรับให้น้ำ ซึ่งก็คล้าย ๆ กับระบบการให้น้ำของพืชทั่วไป ซึ่งช่วยให้การจัดการการให้น้ำทำได้ง่าย หรืออาจใช้วิธีการขุดพื้นให้เป็นร่องลึกประมาณ 1 เมตร และกว้างพอให้พอวางกระถางได้ ซึ่งให้น้ำโดยการปล่อยเข้าไปในร่องจนท่วมกระถาง การให้น้ำแบบนี้อาจเหมือนการให้น้ำในนาข้าวทั่วไป แต่ทว่ารากข้าวที่อยู่เฉพาะในกระถางก็ทำให้การใส่ปุ๋ยและการดูแลต้นข้าวง่ายและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้บริเวณสันร่องยังใช้ปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ได้ เป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน และไม่ต้องกังวลว่าพืชที่ปลูกนั้นจะมาแย่งธาตุอาหารของต้นข้าวด้วย


          “ก่อนเริ่มปลูกข้าว เราให้น้ำจนเต็มกระถาง แต่ก่อนที่เริ่มปลูกควรรอให้ตะไคร่ในกระถางตายให้หมดเสียก่อนถึงนำข้าวมาปลูกลงกระถางได้ ส่วนข้าวที่นำมาปลูกสามารถทำได้สองรูปแบบคือ นำเมล็ดข้าวเปลือกที่แช่น้ำพร้อมงอกแล้วมาปลูกในกระถาง โดยทำหลุมปลูกในกระถางจำนวน 3 หลุม ห่างกันพอประมาณ แต่ละหลุ่มใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 3 เมล็ด หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ เพาะกล้าในถาดเพาะเสียก่อน โดยใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 3 เมล็ด / หลุม เมื่อต้นกล้าอายุได้ประมาณ 10-15 วัน ก็ย้ายมาปลูกในกระถาง จำนวน 3 ต้น / กระถางเช่นกัน”


          สำหรับการจัดการดูแลหลังการปลูก ก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างจากการปลูกในแปลงนามากนัก มีการเพิ่มธาตุอาหารให้กับต้นข้าวโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดเม็ด ทยอยให้ครั้งละน้อย ๆ โดยดูจากความสมบูรณ์ของต้นและใบ เช่นใบข้าวมีอาการขาดสารอาหาร ใบเหลืองก็เสริมปุ๋ยอินทรีย์เข้าไป ซึ่งตลอดช่วงการปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต เฉลี่ยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 1 กำมือต่อกระถาง ระหว่างนี้หากพบวัชพืชขึ้นในกระถางก็กำจัดหรือถอนออก เมื่อครบกำหนดข้าวตั้งท้อง ออกร่วงและให้ผลผลิต ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตทำได้โดยการเกี่ยวเหมือนข้าวทั่วไป แต่จะง่ายกว่าเนื่องจากข้าวแยกกออยู่ในกระถาง ทำให้เข้าถึงได้ง่าย


          คุณสังคม บอกว่าพื้นที่ 1 งาน เมื่อรวมทางเดินด้วย สามารถปลูกข้าวได้ 800 กระถาง พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 3,200 กระถาง จากการทดลองปลูก 1 กระถางได้ผลผลิตประมาณ 0.8-1 กิโลกรัม ดังนั้นพื้นที่ 1 ไร่ ของการทำนาในกระถางจะได้ผลผลิตประมาณ 2,500-3,200 กิโลกรัม ซึ่ง 1 ปี สามารถปลูกได้ถึง 3 รอบ ดังนั้นพื้นที่ 1 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวทั้งหมดสูงสุดถึง 9 ตันเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูงมาก


          แต่สำหรับการปลูกไว้รับประทาน โดยเฉลี่ย 1 คน จะบริโภคข้าวประมาณ 100 กิโลกรัม / ปี ครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่ 3 คน ถ้าปลูกข้าวในกระถางที่มีผลผลิตเฉลี่ย 0.9 กิโลกรัม ต้องปลูกไว้ประมาณ 350 กระถาง ซึ่งใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 90 ตารางวา หรือ กว้าง 9 เมตร ความยาว 10 เมตร ทำให้ได้ผลผลิตที่ 300 กิโลกรัม ซึ่งก็เพียงพอกับความต้องการบริโภคของทุกคนในครัวเรือนแล้ว แต่ถ้าพื้นที่มีจำกัดจริง ๆ ก็ใช้วิธีการปลูก 3 ครั้ง / ปี ซึ่งใช้พื้นที่ในการปลูกเพียง 1 ใน 3 หรือประมาณ 30 ตารางเมตร ซึ่งใช้พื้นที่กว้าง 5 เมตร ยาว 6 เมตร เท่านั้น ไม่ว่าเป็นบนดาดฟ้าหรือหน้าบ้าน ก็สามารถใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวไว้รับประทานได้ทั้งหมด


          “การทำนาในกระถาง อาจมีต้นทุนที่สูงในครั้งแรก ในส่วนของค่ากระถางและการวางระบบน้ำ แต่ถ้าดูจากปริมาณของผลผลิตที่ได้ ถือว่าคุ้มค่าอย่างมาก อีกทั้งไม่ต้องเสียเวลาในการไถเตรียมแปลง ทำให้ต่อปีสามารถปลูกข้าวได้ถึง 3 ครั้ง และยังควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่นการให้ปุ๋ยและน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ได้ผลผลิตค่อนข้างสูง รวมถึงไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาน้ำแล้งที่เกษตรกรประสบอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการทำนาในกระถางยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมว่าเหมาะสมกับการทำเป็นแปลงขนาดใหญ่หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ เวลานี้ ทุกคนสามารถปลูกข้าวในกระถางไว้รับประทานเองได้อย่างแน่นอน”

* * * * *
เครดิต : Supapich Hung

ขายข้าวให้โรงสีถูกกดราคา "สีข้าวขายเอง" ได้ที่
VV คลิก VV

* * * * *
แชร์...ตรงนี้  เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV
Powered by Blogger.