Header Ads

Breaking News
recent

เทคนิคการปลูก “มะระขี้นกยักษ์”

เทคนิคการปลูก “มะระขี้นกยักษ์”


          เริ่มต้นจากเพาะกล้ามะระโอกินาวา โดยการนำเมล็ดมาแช่น้ำอุ่น ประมาณ 1 คืน แล้วนำมาห่อกับผ้าชุบน้ำหมาดๆ หรือวางบนกระดาษทิชชูเปียกน้ำหมาดๆ บ่มเมล็ด ประมาณ 2-3 วัน ในกระติกน้ำ กล่องโฟม หรือกล่องพลาสติก เพื่อให้รากงอกได้ดี

          เมื่อเริ่มมีรากงอกออกมาให้เห็น ให้เลือกเมล็ดที่พร้อมย้าย คือมีรากงอกออกมา เปลือกแตกเป็นสองซีก รากไม่ควรยาวเกิน 1 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้รากหักเวลาย้ายปลูก

วัสดุปลูกคือ แกลบดำ ดินร่วน และขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:1:1

          ย้ายเมล็ดลงถาดหลุมหรือถุงดำขนาดเล็ก เมื่อกล้ามีใบจริง 3-5 ใบ ก็สามารถย้ายปลูกลงถุงดำใบใหญ่หรือปลูกลงแปลงได้ ควรย้ายปลูกในตอนเย็น เพราะอากาศไม่ร้อนมากนัก หลังปลูกเสร็จรดน้ำให้ชุ่ม

          การรดน้ำต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะมะระโอกินาวายิ่งโตยิ่งต้องการน้ำมาก โดยเฉพาะช่วงออกดอกติดผลไม่ควรที่จะให้ต้นขาดน้ำ โดยสามารถวางระบบเป็นน้ำสาย น้ำหยด หรือลากสายยางเดินรดน้ำได้ตามสะดวก

มะระ เป็นพืชเถามีมือเกาะ จำต้องทำค้างไม้ไผ่ให้ต้นมะระเลื้อยเกาะเกี่ยวในการเจริญเติบโต

การให้ปุ๋ย
เน้นการให้ปุ๋ยคอก โดยใช้รวมกับปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบและปุ๋ยชีวภาพตามระยะการเจริญเติบโต

แมลงศัตรู
ในพื้นที่ที่มีแมลงวันทองระบาด ควรจะมีการห่อผลมะระด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือถุงห่อ
มะระโอกินาวา มีวิธีปลูกได้ดังนี้


1. ปลูกแบบลงดิน
          โดยมีพลาสติกคลุมแปลงเพื่อลดการกำจัดวัชพืชคือไถตาก และพลาสติกคลุมแปลงยังช่วยให้ดินชุ่มชื้นสม่ำเสมอ

          โดยการเตรียมดินก็เหมือนแปลงปลูกผักทั่วไป การปลูกมะระต้องเตรียมดิน โดยไถ 1 ครั้ง และตากแดดประมาณ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดดิน เก็บเศษวัชพืชหรือวัสดุอื่นออกจากแปลงให้หมด ปรับสภาพดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชด้วยปูนขาว ความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสม อยู่ระหว่าง 5.5-6

          ทำแนวปลูกด้วยการขึงเชือกหรือกะระยะ ในระยะระหว่างแถว 1-1.5 เมตร ไถตามแนวยาวของแปลง ให้เป็นร่องลึก ประมาณ 20-30 เซนติเมตร ยกแปลงให้สูงซัก 15-20 เซนติเมตร

          หากปลูกจำนวนไม่มาก ก็ใช้จอบขุดขึ้นแปลงตามขนาดที่ต้องการปลูก ขั้นตอนการเตรียมแปลง สามารถใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ไปในขั้นตอนนี้เลย

2. ปลูกลงถุงดำขนาดใหญ่
          การปลูกในถุงดำขนาดใหญ่ (ถุง ขนาด 11x23 นิ้ว) หรือกระถาง อาจใช้วัสดุที่เป็นกระถางพลาสติก กระถางดินเผา หรือถุงพลาสติกประยุกต์จากวัสดุอุปกรณ์เหลือใช้ต่างๆ ซึ่งจะต้องเจาะรูระบายน้ำด้านล่าง

          วัสดุดินปลูก เช่น ดิน 2 ส่วน แกลบดิบ 1 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ควรผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมีในสูตรข้างต้นเพียงเล็กน้อย

          หลังปลูกจะต้องให้น้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง การทำค้างใช้วิธีการปักไม้ในถุงดำหรือกระถาง ปักไม้ไผ่ทำค้างนอกถุงหรือกระถาง

          ส่วนการให้น้ำมะระ จะเริ่มให้น้ำตั้งแต่ปลูกเสร็จ ทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ในช่วงแรก และลดลงเหลือวันละ 1 ครั้ง เมื่อต้นโตตั้งตัวได้ ควรให้อย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ถึงกับเปียกแฉะ ไม่ควรขาดน้ำ โดยเฉพาะช่วงออกดอกติดผล

          การให้น้ำ อาจจะต้องอาศัยการสังเกตว่าควรให้มากน้อยเพียงใดจึงจะเหมาะสม เช่น การปลูกในถุงดำน้ำจะแห้งเร็วกว่าการปลูกในแปลงที่ปูด้วยพลาสติก เป็นต้น ซึ่งอาจให้น้ำด้วย ระบบน้ำหยด สปริงเกลอร์ และการให้น้ำโดยลากสายยางรดโดยคน

          เมื่อกล้ามะระโอกินาวามีใบจริง 3-5 ใบ ก็ย้ายปลูกลงถุงดำใบใหญ่หรือปลูกลงแปลงได้ ด้วยระยะระหว่างหลุม ประมาณ 50-75 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถว ประมาณ 1-1.50 เมตร

การย้ายกล้า นิยมปลูกในช่วงเวลาเย็น แสงแดดไม่ร้อนมากนัก

          มะระ เป็นไม้เถามีมือเกาะ จำเป็นต้องทำค้างเพื่อให้มะระเลื้อยขึ้นไปได้ ซึ่งการทำค้างต้องใช้ไม้รวก หรือไม้ไผ่ ยาวประมาณ 2 เมตร ปักลงข้างๆ หลุมปลูก หรือข้างๆ ถุง แล้วรวบปลายไม้ทำเป็นจั่วหรือกระโจม มัดให้เหลือปลายไม้ไว้ หรือทำค้างแบบสี่เหลี่ยมตามความต้องการ แล้วใช้ตาข่ายไนลอนขึงให้ต้นมะระเลื้อยเกาะขึ้นไป

          หลังปลูกประมาณ 1 อาทิตย์ ก็จะเริ่มให้ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยทุก 7 วันครั้ง โดยจะเน้นใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 ให้ปุ๋ยบ่อยแต่ให้ครั้งละไม่มาก ให้มะระได้กินปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง ยอดแตกไม่ค่อยดี ยอดไม่เดิน ก็จะเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตรตัวหน้าสูง อย่าง 25-7-7 พอยอดเดินดีแล้ว ก็ค่อยกลับมาใช้ 16-16-16 ยืนพื้นตามเดิม

          อีกทั้งต้องเน้นให้ปุ๋ยทางใบค่อนข้างถี่ ตั้งแต่ช่วงปลูกแรกๆ พอมะระแตกใบมา 4-5 ใบ ก็เริ่มฉีดพ่นแล้ว เพื่อเร่งต้นให้โตเร็ว แตกยอดเลื้อยขึ้นค้างได้เร็ว โดยจะพ่นทั้งแคลเซียมโบรอนอี ธาตุอาหารเสริมเร่งต้น สาหร่ายสกัด เร่งการแตกยอด แตกใบ ต้นโตเร็ว

          เมื่อ มะระ 1 เดือน เริ่มออกดอก ธาตุอาหารทางใบยังพ่นต่อเนื่อง จะช่วยให้มะระออกดอกดี ติดผลดี สาหร่ายทะเลช่วยเปิดตาดอก ส่วนแคลเซียมโบรอนอี จะช่วยให้ดอกแข็งแรง ผสมเกสรได้ดี ติดผลได้ดี เมื่อติดลูกแล้วแคลเซียมโบรอนอี  และแมกนีเซียมขาดไม่ได้ ช่วยขยายลูก สร้างเนื้อ เลี้ยงต้นด้วย

          ช่วงมะระอายุได้ 30 วัน ยังไม่ติดผล ให้รดน้ำวันละครั้ง ทิ้งน้ำไม่ได้เลยช่วงนี้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ต้นมะระนิ่งไม่ค่อยอยากจะโต เมื่อได้น้ำสม่ำเสมอทุกวันระยะนี้มะระจะติดดอกติดผล

          สังเกตต้นมะระถ้าสมบูรณ์ดียอดพุ่งดี มันจะติดดอกติดผลดีมาก เราเพียงแค่ดูสภาพดินเป็นอย่างไร อุ้มน้ำดีหรือไม่ ดินแห้งหรือเปล่า ถ้ายอดเหี่ยว ใบห่อ ใบไม่ใส แสดงว่าน้ำไม่ถึง


          เมื่อมะระติดผล ก็ให้น้ำธรรมดา ดูว่ายอดยังสมบูรณ์ดี ก็ไม่ต้องทำอะไร พอผลมะระโตได้ 4-5 วัน เริ่มห่อได้แล้ว สังเกตผลมะระยาวประมาณ 1 นิ้วมือ ก็ห่อได้ ถ้าห่อตอนผลเล็กกว่านี้ไม่ดี จะทำให้ผลเหลือง เวลาห่อใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อเลย เอาไม้กลัดเย็บให้แน่นพอประมาณ เพื่อไม่ให้ผลมะระถูกลม

          ช่วงนี้ให้ดูว่า มีเพลี้ยไฟ เกาะอยู่ใต้ใบหรือไม่ สังเกตดูที่ใบจะหงิกก็ต้องฉีดยากำจัดเพลี้ยไฟ ซึ่งบางท่านอาจจะเลือกฉีดพ่นด้วยน้ำหมักสมุนไพร เช่น พวกหนอนตายหยาก+สะเดา+ใบยาสูบ และโล่ติ๊น กับน้ำ แล้วฉีดพ่นทางใบให้ เพลี้ยไฟมากับลม

          ถ้าเห็นว่าระบาดมากควรใช้สารเคมีสกัดยับยั้งเสียก่อน เช่น สารที่มีความปลอดภัยสูงอย่างกลุ่มอะมิดาคลอพริด (เช่น โปรวาโด, สลิง เอ็กซ์, โคฮีนอร์) ฉีดครั้งสองครั้งก็ใช้ได้แล้ว

          นอกจากนี้ ควรสังเกตหากผลไม่ใหญ่ต้องเพิ่มปุ๋ย สูตร 15-15-15 เข้าช่วยด้วย ผลมะระดีหรือไม่ดีอยู่ที่ต้นสมบูรณ์แค่ไหน ถ้าต้นสมบูรณ์ ดินดี ปุ๋ยถึง น้ำถึง ผลมะระออกมาจะตรง ที่ผลงอเพราะต้นไม่สมบูรณ์

          การห่อผลมะระ เมื่อมะระอายุได้ 40 วัน จะออกดอกและติดผลจนลูกโตขนาดนิ้วก้อย ก็เริ่มห่อผลได้ทันที โดยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ทำเป็นถุง ขนาด 15?20 เซนติเมตร ปากถุงเปิดทั้งสองด้าน นำปากถุงด้านหนึ่งสวมผลมะระ แล้วใช้ไม้กลัด กลัดปากถุงให้แขวนอยู่บนก้านของผลมะระ การห่อผลจะช่วยไม่ให้มะระถูกรบกวนจากแมลง ศัตรูพืชมากนัก และยังทำให้ผลมีสีเขียวอ่อนน่ากิน

          การเก็บผล เมื่อต้นมะระอายุได้ประมาณ 40 วัน มะระรุ่นแรกจะเริ่มแก่ทยอยเก็บผลได้ ในการเก็บระวังอย่าปล่อยให้มะระแก่จัด จนมีสีเหลือง


การป้องกันและกำจัดศัตรู

          1. แมลงวันทอง จะเจาะและวางไข่ในผล ทำให้มีหนอนไชผล ผลจะเล็กแกร็นและเน่าเสีย ควรป้องกันด้วยการฉีดพ่นด้วยมาลาไธออน ซึ่งสลายตัวง่าย ไม่มีฤทธิ์ตกค้างนาน (สารตัวนี้ใช้มากในการฉีดมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออกของไทย)

          2. หนอนเจาะเถา, หนอนเจาะยอด ซึ่งหนอนเจาะเถา เกิดจากยุงกลางวันชนิดหนึ่งวางไข่ที่เถา แล้วตัวหนอนของยุงกลางวันชนิดนี้จะเข้าไปอาศัยอยู่ภายในเถามะระ ทำให้เถาโปร่ง ออกมองเห็นได้ชัด ต้นมะระเมื่อเกิดอาการโรคนี้ จะหยุดชะงักการเจริญเติบโต ไม่แตกตาดอก ไม่ออกดอกออกผล ป้องกันและกำจัดได้ หนอนเจาะยอด ทำให้ยอดตาย ต้นมะระเจริญเติบโตช้า

          โดยใช้สารไซโรเฮทริน (เช่น เคแอล), สารคาร์บาริล (เช่น เซฟวิน 85), สารอะบาร์แม็กติน (เช่น โกลแจ็กซ์) หรือเลือกใช้ยาเชื้อบาซิลลัส ทูริงเจนซิส (บีที) สามารถกำจัดหนอนได้ดี ปลอดภัย แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่จะถูกทำลายโดยรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากแสงแดด ดังนั้น จึงควรฉีดพ่นตอนเย็น แดดอ่อนๆ จะช่วยยืดอายุเชื้อ บีที ชีวภาพ บนต้นพืชให้มีประสิทธิภาพอยู่ได้นาน 

          3. เพลี้ยไฟ ถ้ายอดมะระถูกเพลี้ยไฟ ซึ่งมีลักษณะตัวเล็กๆ สีดำ ปีกเป็นฝอยคล้ายขนนก เคลื่อนไหวว่องไว เกาะอาศัยดูดน้ำเลี้ยงที่ยอด ทำให้ยอดหงิก เจริญเติบโตช้า ไม่มีดอก ไม่มีผล หรือถูกเพลี้ยอ่อนที่มีหัวใส สีค่อนข้างคล้ำ เกาะเป็นกระจุกตามยอด ขับถ่ายสิ่งที่เป็ นสีดำออกมา ทำให้มองเห็นยอดมะระมีสีดำ เพลี้ยชนิดนี้เคลื่อนไหวได้ช้า เพลี้ยอ่อนจะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอด ทำให้มะระเติบโตช้าเช่นกัน

          ดังนั้น เมื่อเห็นมีเพลี้ยไฟเข้าทำลายยอดของมะระ ให้ใช้สารอิมิดาคลอพริด (เช่น โปรวาโด, โคฮีนอร์, สลิง เอ็กซ์) สารคาร์บาริล (เช่น เซฟวิน 85), สารฟิโปรนิล (เช่น เฟอร์แบน), สารไธอะมีโทแซม (เช่น มีโซแซม), สารสไปนีโทแรม (เช่น เอ็กซอล) โดยในพื้นที่มีการระบาดมากแนะนำให้ฉีดสลับตัวยากันสัก 2 ชนิด เป็นอย่างน้อย เพื่อป้องกันการดื้อยาของแมลง หรือเลือกใช้ยาเชื้อราบิวเวอเรีย สามารถกำจัดเพลี้ยไฟและแมลงต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่จะถูกทำลายโดยรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากแสงแดด ดังนั้น จึงควรฉีดพ่นตอนเย็น แดดอ่อนๆ จะช่วยยืดอายุเชื้อราบิวเวอเรียชีวภาพ บนต้นพืชให้มีประสิทธิภาพอยู่ได้นาน 

          ซึ่งการปลูกมะระโอกินาวานั้น สามารถเลือกแนวทางผสมผสานระหว่างการใช้สารชีวภาพ สมุนไพรสกัดไล่แมลง และสารชีวภัณฑ์ เช่น ยาเชื้อ เพื่อให้ปลอดภัยในการบริโภค หรือเลือกใช้สารเคมีให้ถูกต้องถูกจังหวะ ก็ถือว่าไม่มีอันตรายอย่างใด เพราะสารเคมีจะมีระยะการสลายตัว ประกอบกับการใช้ถุงห่อก็สามารถลดการถูกสารเคมีได้โดยตรง


          มะระโอกินาวา เป็นผักพื้นบ้านที่มีประวัติยาวนาน เป็นหนึ่งในอาหารของคนโอกินาวาที่กินแล้วจะอายุยืน (จังหวัดโอกินาวา เป็นเกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ระหว่างญี่ปุ่นกับไต้หวัน ถือเป็นเกาะที่มีประชากรอายุเกิน 100 ปี มากที่สุดในโลก) นิยมนำไปผัดกับเต้าหู้และไข่เป็นอาหาร ในสมัยก่อนถ้ามีฐานะหน่อยก็มักจะผัดกับหมู

          มะระโอกินาวา หรือ มะระญี่ปุ่นนั้น มีสารที่เรียกว่า “โพลีฟีนอล” ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายเป็นจำนวนมากและเต้าหู้ทั้งหลายที่ชาวญี่ปุ่นชอบกินนั้นมีสารอาหาร ที่เรียกว่า “ไฟโตเอสโตรเจน” ซึ่งเชื่อกันว่า ช่วยลดโอกาสการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้  มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมากที่เป็นโรคร้ายในวัยชราทั้งสิ้น

          มะระโอกินาวา จึงเป็นผักที่มีความน่าสนใจมาก แม้จะปลูกเพื่อบริโภคเอง หรืออนาคตจะปลูกเชิงการค้าก็เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจมาก

ปลูกแล้วไม่มีที่ขาย ซื้อ-ขาย "มะระ" ได้ที่
VV คลิก VV

* * * * *
ที่มา : http://www.matichon.co.th

แชร์...ตรงนี้  เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV
Powered by Blogger.