Header Ads

Breaking News
recent

ชา (Tea) "พืชอุตสาหกรรม"


ชา (Tea) "พืชอุตสาหกรรม"

     ชา (Tea) ชื่อสามัญ Tea ชื่อวิทยาศาสตร์ Camellia sinensis (L.) O kuntze. ถิ่นกำ เนิด ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนใกล้ต้นน้ำอิรวดี จากทิศตะวันตกตามแนวชายแดนของรัฐอัสสัม และสหภาพพม่าไปยังมณฑลซีเกียงของจีน ด้านทิศตะวันออกลงใต้ตามเทือกเขาตอนเหนือของไทยไปสิ้นสุดที่เวียดนาม

ความสำคัญ
     ชา เป็นพืชที่นำมาทำ เครื่องดื่ม เป็นที่นิยมบริโภคของคนทั่วโลก เช่นเดียวกับกาแฟและโกโก้ จีนเป็นประเทศแรกที่เริ่มนำชามาทำเป็นเครื่องดื่มเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว จากนั้นความนิยมในการดื่มน้ำชาก็ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยปี 2548 มีพื้นที่ปลูกชา 69,210 ไร่ ผลผลิตใบชาสดรวม 66,920 ตัน จังหวัดเชียงราย มีการปลูกและได้ผลผลิตมากที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดลำปาง แพร่ และเชียงใหม่ จากปริมาณการผลิตที่ได้ ทำให้ประเทศไทยมีทั้งการนำเข้าและส่งออกชา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 
     ต้น เป็นไม้ยืนต้น ชนิดใบเลี้ยงคู่ ลำต้น กลุ่มพันธุ์ชาจีน เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ประมาณ 1-6 เมตร

     ใบ มีก้านใบสั้น แผ่นใบมีปลายใบโค้งมนใบกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 5-9 เซนติเมตร ขอบใบมีหยักเป็นรูปโค้งเล็กน้อย แผ่นใบมีสีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม กลุ่มพันธุ์ชาอัสสัม เป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงใหญ่ เป็นใบเดี่ยวปลายใบแหลม การเรียงตัวของใบเป็นแบบสลับและเวียน ใบ กว้าง 3.5-5.5 เซนติเมตรยาว 8-14 เซนติเมตร ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเด่นชัด

สภาพแวดล้อม
     ชาเป็นพืชกึ่งร้อน สามารถขึ้นได้ดีในเขตอบอุ่น และมีฝน เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ๆ มีความชื้นสูง ปริมาณฝน 1,800 มม.ต่อปี อุณหภูมิ 27-35 องศาเซลเซียส ความเป็นกรด-ด่าง 4.5- 5.5

สายพันธุ์
     พันธุ์ชาที่ใช้ปลูกเพื่อทำการค้า แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มพันธุ์ใหญ่ๆ คือ

     1. ชาอัสสัม (Assam Tea) ลักษณะเป็นลำต้นเดี่ยว สูงประมาณ 6-18 เมตร ใบใหญ่เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง ดอกออกเป็นช่อๆ ละ 2-4 ดอก ชาอัสสัม สามารถแบ่งออกเป็นพันธุ์ย่อยได้ 5 สายพันธุ์ คือ

     1.1 พันธุ์อัสสัมใบจาง (Light leaved Assam jat) ต้นมีขนาดเล็ก เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอ ให้ผลผลิตต่ำและคุณภาพไม่ดี เมื่อนำมาทำชาจีนจะมีสีน้ำตาล

     1.2 พันธุ์อัสสัมใบเข้ม (Dark leaved Assam jat) เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพดี เมื่อนำมาทำชาจีน จะมีสีดำ

     1.3 พันธุ์มานิปุริ (Manipuri jat) เป็นพันธุ์ที่แข็งแรงให้ผลผลิตสูง ทนแล้งได้ดี

     1.4 พันธุ์พม่า (Burma jat) ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีมาก

     1.5 พันธุ์ลูไซ (Lushai jat) ขอบใบหยักลึก ปลายใบเห็นได้ชัด

     2. ชาจีน (China Tea) ลักษณะลำต้นเป็นพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 2-3 เมตร ใบมีสีเขียวเข้ม ขนาดเล็ก ยาวแคบ ตั้งตรง ข้อถี่ปล้องสั้น ทนทานต่ออุณหภูมิต่ำ และสภาพแวดล้อมที่ผันแปรได้ดี ผลผลิตต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มพันธุ์ชาอัสสัม ชาพันธุ์นี้ปลูกมากในประเทศจีน สายพันธุ์ที่นิยมปลูกจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ เช่น สายพันธุ์ ชิงชิงอู่หลง, ชิงชิงต้าพัง, เตไกวอิน ฯลฯ

     3. ชาเขมร (Indo-China Tea) ลักษณะลำต้นเดี่ยว สูงประมาณ 5 เมตร ใบแข็งเป็นมัน ใบยาว ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย แผ่นใบม้วนงอเป็นรูปคล้ายตัววี ก้านใบสีแดงในฤดูแล้งใบจะมีสีแดงเรื่อ ๆ ยอดอ่อนรสฝาดจัด มีแทนนินสูง ทนแล้งได้ดี

พันธุ์ชาที่เตรียมขอเป็นพันธุ์แนะนำหรือรับรองของกรมวิชาการเกษตร มี 2 พันธุ์ คือ
     1. พันธุ์แม่จอนหลวง เบอร์ 2 (MCL# 2) ลักษณะเด่น เปอร์เซ็นต์แทนนินต่ำ (10.70%)กรดอะมิโน และโปรตีนสูง (4.86 และ 2.33%) ใบบาง ก้านยอดอ่อนเล็ก ปล้องสั้น แตกกอได้ดี มีกิ่งให้ผลผลิตจำนวนมาก ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมบนที่สูงได้ดี โรคและแมลงเข้าทำลายน้อย ข้อจำกัด มีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า ไม่ทนต่อน้ำขังควรปลูกพื้นที่สูงระดับ 700 เมตร ขึ้นไป

     2. พันธุ์แม่จอนหลวง เบอร์ 3 (MCL# 3) ลักษณะเด่น เปอร์เซ็นต์สารประกอบแทนนินต่ำ (9.78%) กรดอะมิโน และโปรตีนสูง (3.42 และ 5.289%) ใบบาง สามารถแตกกอได้ดี มีกิ่งให้ผลผลิตจำนวนมากปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมบนที่สูงได้ดี พบโรคและแมลงเข้าทำลายน้อย ข้อจำกัดไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง ควรปลูกในพื้นที่สูงระดับ 700 เมตรขึ้นไป

การปลูก
     ปลูกในดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี อินทรีย์วัตถุสูง มีฝนตกสม่ำเสมอตลอดปีอุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ชาควรปลูกบนพื้นที่สูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป อากาศเย็นจะทำให้ผลผลิตใบชาที่ได้มีคุณภาพสูงใบชามีกลิ่นและรสชาติดี ระยะปลูกแถว xต้น คือ 2x1 เมตร (800 ต้น/ไร่)1.5x0.75 เมตร (1,420 ต้น/ไร่) 1.2x0.6 เมตร (2,200 ต้น/ไร่) ช่วงเวลาที่เหมาะสมควรเป็นช่วงต้นฝน ต้นกล้าที่จะนำมาปลูกควรมีอายุ 18-24 เดือน ก่อนปลูกให้รองก้นหลุมด้วยดินผสมปุ๋ยฟอสเฟต อัตรา 40-50 กรัม จากนั้นกลบด้วยดินชั้นล่างผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้ว อัตรา 1-2 กิโลกรัม ควรรักษาความชื้นของดินด้วยการใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมดิน

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตัดแต่งทรงพุ่มชา
     ควรตัดแต่งในเดือนมกราคม จะให้ผลผลิตยอดชาสดสูงสุด ด้านคุณภาพชาจีน การตัดแต่งชาในเดือนพฤศจิกายน และมกราคม ให้ผลิตภัณฑ์ชาที่ขนาดเล็ก ใบอ่อนม้วนตัวได้ดี น้ำชามีกลิ่นหอมจัด

การจัดการคุณภาพ
     ลักษณะใบชาที่ตลาดต้องการ ใบชาต้องแห้งสะอาดปราศจากสิ่งปลอมปน สีดำอมเขียวตามธรรมชาติ มีกลิ่นและรสเฉพาะของชาใบ (แต่งกลิ่นได้ และปลอดภัยกับผู้บริโภค) ต้องไม่เจือสีใดๆ มีปริมาณก้านไม่เกินร้อยละ 7 โดยน้ำหนักความชื้นไม่เกิน 7% คาเฟอีนไม่น้อยกว่า 2% เมื่ออบแห้งแล้วมีกากได้ไม่เกิน16.5% ฯลฯ การเก็บเกี่ยว เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะชาที่คุณภาพดีนั้น ใบชาต้องสดมีคุณภาพ เริ่มเก็บเดือนมีนาคม-พฤศจิกายน โดยเฉลี่ยจะเก็บยอดชา 10 วัน/ครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวยอดชาอยู่เวลา 05.00-14.00 น. การเก็บยอดชาใส่ตะกร้าหรือกระสอบต้องไม่อัดแน่น เพราะจะทำให้ยอดชาช้ำ และคุณภาพใบชาเสีย เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการหายใจของใบชา หลังเก็บเกี่ยวควรนำส่งโรงงานผลิตภายใน 3-4 ชั่วโมง เพื่อจะได้สามารถผลิตชาคุณภาพดี

ด้านวิธีการแปรรูปที่ให้ชาคุณภาพสูง
     นำยอดชาสด(ยอดชากลุ่มชาจีน) ผึ่งในร่ม (8 ชม.เขย่าทุก 2 ชม.) คั่ว (300 องศา-เซลเซียส 5 นาที) นวด (5 นาที)- สางชา - นวดผ้าใช้แรงกด (5 นาที) สางชา อบแห้ง (90 องศาเซลเซียส)

คุณค่าทางโภชนาการ
     ประกอบด้วยสารโพลีฟีนอล มากถึง 20-35% ซึ่งมีผลต่อรสฝาดและสีของน้ำชา ชามีองค์ประกอบทางอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 450 ชนิด และยังพบสารอนินทรีย์ไม่น้อยกว่า 15 ชนิด

การใช้ประโยชน์ เป็นเครื่องดื่ม
     ชาที่มีธาตุอาหารหลายชนิดเป็นองค์ประกอบที่ช่วยบำรุงให้ร่างกายมีสุขภาพดี ซึ่งประโยชน์ของชา พอจะสรุปได้ดังนี้

     1.ช่วยกระตุ้นให้ระบบประสาทและร่างกายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากชามีสารคาเฟอีนเป็นองค์ประกอบ

     2.ช่วยแก้กระหายและช่วยในการย่อยอาหาร ในช่วงอากาศร้อน การดื่มชาจะช่วยให้มีความรู้สึกสดชื่นขึ้น เนื่องจากใบชามีสารโพลีฟีนอล คาร์โบไฮเดรท และกรดอะมิโนเป็นองค์ประกอบ

     3.ช่วยฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ ช่วยสมานแผล ช่วยในการขับถ่าย และชะล้างสารพิษในร่างกาย เนื่องจากใบชามีสารโพลีฟีนอล สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (colon bacillus)

     4.ช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะชาเขียวจะมีวิตามินซี วิตามินบีคอมเพล็คและกรดเพนโท-เทนิค รวมทั้งวิตามินพี (ช่วยให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นมากขึ้น) ซึ่งสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยคาเทคชิน (catechine) ที่เป็นองค์ประกอบใน polyphenol เช่น วิตามินพี ช่วยไม่ให้เส้นเลือดแข็งตัวง่าย

     5.ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง (fitness) ต่อต้านโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ชาพุเออ ที่ผลิตในยูนานมีชื่อเสียงในด้านสรรพคุณทางเภสัชกรรมจากการวิจัยพบว่า ชาเถา (Tuocha) เป็นชาที่ช่วยลดความอ้วน และช่วยรักษาโรคหลอดเลือดอุดตันได้เป็นอย่างดี ชาอูหลง สามารถช่วยลดความอ้วนและอาการท้องผูก โดยจะช่วยละลายไขมันและช่วยในการย่อยอาหารและลดประจุ (discharge) ในปัสสาวะ

* * * * *
Sponsor Link
 หางาน สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ปราจีนบุรี

Powered by Blogger.