Header Ads

Breaking News
recent

กาแฟ (อาราบิก้า และ โรบัสต้า) "พืชอุตสาหกรรม"


กาแฟ (อาราบิก้า และ โรบัสต้า) "พืชอุตสาหกรรม"


     กาแฟ (อาราบิก้า และ โรบัสต้า) ชื่อสามัญ Arabica coffee และ Robusta coffee ชื่อวิทยาศาสตร์Coffea Arabica Linn. Coffea robusta Linden ถิ่นกำเนิด : กาแฟอาราบิก้า ทวีปแอฟริกา แถบรอยต่อประเทศเอธิโอเปีย อะบีสซิเนีย และ อราเบีย กาแฟโรบัสต้าบริเวณชายฝั่งตะวันตกถึงฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา

ความสำคัญ
     กาแฟเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าการซื้อขายในตลาดโลกเป็นอันดับสองรองจากน้ำมันปิโตรเลียม การผลิตกาแฟของไทยร้อยละ 98 เป็นพันธุ์โรบัสต้า ร้อยละ 2 เป็นพันธุ์อาราบิก้า ไทยผลิตกาแฟโรบัสต้าได้ 75,000-85,000 ตัน/ปี ใช้บริโภคภายในประเทศร้อยละ 30 ที่เหลือ 70 % ส่งออก ด้านปริมาณความต้องการใช้เมล็ดกาแฟสำหรับอุตสาหกรรมกาแฟผงสำเร็จรูป และกาแฟคั่วบด ภายในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นจาก 20,000 ตัน (ปี 2539) เป็น 35,000-38,000 ตัน (ปี 2545) ปัจจุบัน ธุรกิจร้านกาแฟสดมีการเพิ่มและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าปริมาณความต้องการผลผลิตกาแฟภายในประเทศจะเพิ่มมากขึ้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
     กาแฟเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลางสูง 4-5 เมตร และอาจสูงได้ถึง 10 เมตร ลักษณะต้น ใบ ยอด และ ดอก มีความหลากหลาย สีของยอด และขนาดของ ใบ มีความแตกต่างกันมากระหว่างชนิด ใบ เป็นใบเดี่ยว ดอก มีสีขาว ผล ใน 1 ผล มี 2 เมล็ด และบางผลอาจมีเพียงเมล็ดเดียวได้

สภาพแวดล้อม
     กาแฟอาราบิก้าต้องการอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 15-25 องศาเซลเซียส ปริมาณฝน 1,750-2,000 มม.ต่อปี ส่วนกาแฟโรบัสต้าเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน ต้องการช่วงแล้งสั้นๆเพื่อการพักตัวและต้องการน้ำเพื่อทำลายการพักตัวของตาดอก ปริมาณฝน 1,780 มม.ต่อปี อุณหภูมิระหว่าง 18-33 องศาเซลเซียส

พันธุ์
     พันธุ์กาแฟมีมากกว่า 60 ชนิดแต่นิยมปลูกเป็นการค้าในประเทศไทยมีเพียง 2 ชนิด คือ


     1. กาแฟพันธุ์อาราบิก้า เป็นกาแฟที่มีความสำคัญมากที่สุดผลผลิตเกือบ 80% ของกาแฟที่ปลูกทั่วโลก เป็นกาแฟที่สามารถผสมตัวเองได้ จึงมีหลากหลายพันธุ์ทั้งที่เกิดจากการผสมตัวเองในธรรมชาติ การผสมภายในสายพันธุ์ หรือเกิดการกลายพันธุ์ ลักษณะลำต้นใบและเมล็ดเล็กให้ผลผลิตปานกลาง คุณภาพของเมล็ดดีที่สุด รสชาติหอมหวนชวนดื่ม อุณหภูมิที่ต้องการอยู่ระหว่าง 13-21 องศาเซลเซียส ความสูงจากระดับน้ำทะเล 700-1800 เมตร ปริมาณน้ำฝน 1500 มิลลิเมตร ระยะตั้งแต่ดอกบานถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ 6-9 เดือน


     2. กาแฟพันธุ์โรบัสต้า หรือ คานิฟอร่า เป็นพันธุ์การค้าที่ปลูกกันมากในแถบเอเชีย ดอกไม่สามารถผสมตัวเองได้ต้องผสมข้ามต้น อาศัยลมและแมลงช่วยผสม จำแนกได้ 2 กลุ่ม ดังนี้

2.1 C. canephora var. canephora หรือ var.robusta ลักษณะทรงพุ่มตั้งตรงสูงขึ้น ข้างบน ใบใหญ่ ผลโต สุกช้า ต้านทานต่อโรคราสนิม

2.2 C. canephora var. nganda ลักษณะทรงพุ่มกว้างเป็นรูปโคน ต้นเตี้ย ใบเล็กยาวผลเล็ก ไม่ต้านทานต่อโรคราสนิม แต่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี นอกจากกาแฟอาราบิก้า และโรบัสต้าแล้ว ยังมีอีก 2 ชนิด ที่มีการปลูกใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น คือ

     - กาแฟริเบอร์ริก้า (C.liberica Bull ex Hiern) ปลูกกันมากแถบแอฟริกา ลักษณะต้นใหญ่ขึ้นอยู่ในสภาพแห้งแล้ง ใบใหญ่ค่อนข้างกลมรีเหนียว ดอกใหญ่สีขาว, ชมพูอ่อน หรือม่วงอ่อน มีกลิ่นหอมมาก ผลมีเปลือกหนาและเหนียวรับประทานได้ ผลสุกเป็นริ้วเหลืองแดงดอกผสมตัวเองไม่ได้ เมล็ดมีรสขมรสชาติไม่ชวนดื่ม

     - กาแฟแอ๊คเซลซ่า (C.excelsa Chev.) มีปลูกปริมาณน้อยแถบประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ต้นและใบใหญ่ ดอกเล็กสีขาว หรือ อมชมพู มีกลิ่นหอม ผลเล็กสีแดงเข้มดอกผสมตัวเองไม่ได้ต้องผสมข้าม เมล็ดมีรสชาติอ่อนนุ่ม คุณภาพปานกลาง

กาแฟพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร
     กาแฟอาราบิก้า มี 1 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ Catimor CIFC 7963-13-28 ลักษณะเด่น ต้านทานต่อโรคราสนิม 100% ต้นเตี้ยแข็งแรง ทรงพุ่มกว้าง รูปปิรามิด ข้อสั้น ใบใหญ่ ปลูกได้จำนวนมาก ผลผลิตสูง สามารถปลูกผสมผสานได้ดีกับพืชที่ไม่ต้องการแสงแดด ปลูกร่วมกับไม้ผลอื่นได้ เช่น มะคาเดเมีย ไม้ผลเมืองหนาวคุณภาพการชิมดีกว่าพันธุ์แม่ให้ปริมาณสารกาแฟเกรด A เฉลี่ยมากกว่า 80% ข้อจำกัด ปลูกเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป 700 เมตร สภาพอากาศหนาวเย็น ปริมาณน้ำฝนกระจาย 4-6 เดือนต้องปลูกภายใต้สภาพร่มเงา ไม่ทนต่อสภาพอากาศร้อน หรือสภาพกลางแจ้ง

     กาแฟโรบัสต้า มี 1 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 1/11 ลักษณะเด่นให้ผลผลิตสูงต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี (3.61 กิโลกรัม/ต้น/ปี) ข้อสั้น (5.14 เซนติเมตร) เมล็ดใหญ่กว่ามาตรฐานค่า Extractability สูง 53.73% ค่าคาเฟอิน 2.01% ข้อจำกัด ควรปลูกร่วมกับสายพันธุ์อื่นอย่างน้อย 2-3 สายพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการผสมเกสร ไม่ควรใช้เมล็ดไปขยายพันธุ์ต่อเพื่อใช้ปลูก เพราะจะให้คุณลักษณะและผลผลิตไม่เหมือนสายพันธุ์เดิม

การปลูก
     อาราบิก้า ระยะปลูก 2x2 เมตร (400 ต้น/ไร่) หรือ 1.5x2 เมตร (533ต้น/ไร่) หรือ 1.5x1.5 เมตร (711 ต้น/ไร่) ขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ปลูก ควรปลูกช่วงต้นฤดูฝน (มิ.ย.)

     โรบัสต้า ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 3x3 เมตร (ไม่ใช่เครื่องจักรกล) พื้นที่ลาดชัน ควรปลูกแบบขั้นบันได ความกว้างของขั้นบันไดเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่ม (ประมาณ 3 เมตร) หลุมปลูก ขุดหลุมลึก 50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสรองก้นหลุม โดยใช้หินฟอสเฟต 200-300 กรัม ผสมกับหน้าดินที่ขุดขึ้นมา และปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายแล้ว 3-5 กิโลกรัมใส่รองก้นหลุม และควรปลูกพืชคลุมดินเพื่อช่วยยึดหน้าดินไว้ด้วย

การจัดการคุณภาพ
     การป้องกันไม่ให้เมล็ดกาแฟดำ ไม่ตากเมล็ดกาแฟหนาเกิน 5 เซนติเมตร และไม่ปล่อยให้เปียกฝนและไม่เก็บในที่ชื้น ไม่ควรเก็บเมล็ดกาแฟอ่อนหรือไม่แก่จัด เมล็ดกาแฟที่มอดเจาะ ควร แยกส่วนเมล็ดที่ลอยน้ำออก ตัดแต่งกิ่งแห้งหรือตายคาต้น นำผลแห้งนำไปเผาไฟทำลาย และพ่นสารเคมีกำจัดมอดอย่างเป็นระบบเมล็ดกาแฟแตกหัก ใช้เครื่องสีเมล็ดกาแฟชนิดหินขัดหรือลูกยางควรปรับช่องว่างระหว่างลูกยางกับลูกหินในระยะที่เหมาะสม สิ่งเจือปน ควรเร่งพัดลมเครื่องสีให้แรงขึ้น ถ้าเมล็ดขนาดเล็กควรสี 2 ครั้ง เศษวัสดุอื่นๆ พยายามอย่าให้มีกิ่งก้านปะปนมากับผลกาแฟ, ควรทำความสะอาดลานตากทุกครั้ง ใช้ตาข่ายสีฟ้ารองก่อนตาก, ก่อนการสีผลกาแฟให้ตรวจสอบเครื่องสีก่อนทุกครั้ง นำเศษเหล็ก เศษหินออกให้หมด

การขยายพันธุ์
     เพาะเมล็ด ปักชำ เสียบยอด ทาบกิ่ง และโดยวิธีโซมาติก เอ็มบรีโอจีนีซีส

การใช้ประโยชน์
     ใช้เมล็ดผลิตเครื่องดื่ม นำมาเป็นส่วนผสมอาหาร เช่น อาหารหวาน

คุณค่าทางโภชนาการ
     สารเคมีที่สำคัญในเมล็ดกาแฟ คือ คาเฟอีน, กรดคลอโรจินิค (ป้องกันโรคมะเร็ง), ไนอาซีน (ช่วยขยายเมตาโบลิซึม ของกระเพาะอาหารและลำไส้), กรดลินดิก (ช่วยทำให้เลือดหยุดและลดการคั่งของเลือด) ไอศกรีม เค้ก

* * * * *
ฝากกด "ถูกใจเพจ" เพจ : เกษตร นานา : Kaset NaNa ด้วยนะครับ
Powered by Blogger.