Header Ads

Breaking News
recent

แบ่งพื้นที่ทำเกษตร 5 ไร่ ทำได้ครบวงจร มีทั้งแปลงผัก เพาะเห็ด เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ ปลูกพืชสมุนไพร และอีกมากมาย

แบ่งพื้นที่ทำเกษตร 5 ไร่ ทำได้ครบวงจร มีทั้งแปลงผัก เพาะเห็ด เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ ปลูกพืชสมุนไพร และอีกมากมาย

          อำเภอเนินมะปราง ขึ้นชื่อในเรื่องพื้นที่การปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออกอันดับต้นของประเทศ มีเกษตรกรที่เก่งและมีความสามารถ การส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ให้มีความรู้และรักเกษตรก็ไม่น้อยหน้า ดังเช่น โรงเรียนวัดบ้านมุง ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก แห่งนี้ มีนักเรียน จำนวน 262 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 และที่ไม่เหมือนใคร คือ มีสระว่ายน้ำ สอนว่ายน้ำให้กับเด็กนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการช่วยเหลือตนเองหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของโรงเรียน และเป็นความโชคดีที่มีหน่วยงานเห็นความสำคัญ

          ว่าที่ร้อยตรีสมศักดิ์ ลาไม้ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านมุง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนว่า โรงเรียนมีพื้นที่ทั้งสิ้น 22 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตรแบ่งไว้ ราว 5 ไร่ พื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 3 ไร่ ของพื้นที่เกษตรปรับเป็นสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับอนุรักษ์ไม้ไทยต่างๆ เช่น ประดู่ มะค่า ตะเคียน เป็นต้น แต่ทั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กมีใจรักป่า ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยหลัก ทั้งยังเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาพื้นที่ป่าเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้อีกด้วย

          ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านมุง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการดำรงชีวิต จึงกำหนดให้มีวิชาชีวิตขึ้น ได้แก่ ดนตรี ศิลปะ และยังให้ความสำคัญกับวิชาชีพ เพื่อการดำรงชีพของนักเรียน จึงก่อตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร เพื่อให้เป็นวิชาชีพที่สำคัญ สามารถนำไปใช้ได้ เพราะที่ผ่านมาเด็กในพื้นที่ต่างจังหวัด เมื่อถึงจุดอิ่มตัวในการทำงานต่างถิ่น จะกลับมาบ้าน และเกษตรจะเป็นวิชาชีพที่ติดตัวนักเรียนไปตลอด

          ในการเรียนการสอนตลอดทั้งสัปดาห์ จะมีวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง เด็กทุกคนในโรงเรียนจะได้สัมผัสกับแปลงเกษตรในชั่วโมงเรียนการงานพื้นฐานอาชีพ แต่ไม่ลงลึก แตกต่างกับเด็กที่สมัครเข้าร่วมชุมนุมที่เปิดเป็นวิชาเรียนเสริมในตอนท้ายของการเรียนวันศุกร์ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กนักเรียนสมัครเข้าร่วมชุมนุม ประมาณ 25 คน และนักเรียนที่จะได้ลงลึกในภาคเกษตรมากที่สุด คือ กลุ่มยุวเกษตรกรที่เปิดให้นักเรียนสมัครเข้าร่วมกลุ่มยุวเกษตรกรได้ตลอดทุกชั้นปี มีพี่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาเป็นแกนนำในการดำเนินการกลุ่ม และนำน้องๆ ที่ระดับชั้นต่ำกว่าลงแปลงเกษตร

          อาจารย์ชัยวุฒิ สุวรรณลา ครูชำนาญการ ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร กล่าวว่า กลุ่มยุวเกษตรกรก่อตั้งมาประมาณ 7 ปีแล้ว นักเรียนที่นี่ให้ความสำคัญกับการเกษตรเป็นอย่างดี กลุ่มมีการดำเนินงานตามระเบียบของกลุ่มยุวเกษตรกร คือ มีการประชุมกลุ่ม การอบรมและเผยแพร่ความรู้ให้กับนักเรียนภายในโรงเรียน และดำเนินกิจกรรมเกษตรภายในโรงเรียนโดยไม่บกพร่อง ได้แก่ แปลงผัก สวนป่าเฉลิมพระเกียรติ การเพาะเห็ด การเลี้ยงปลา การเลี้ยงกบ การเลี้ยงไก่ แปลงพืชสมุนไพร และการปลูกต้นมะปราง เพื่อให้เด็กนักเรียนระลึกว่า ในอดีตพื้นที่อำเภอเนินมะปรางมีไม้ผล คือ มะปราง จำนวนมาก แต่ปัจจุบันเหลือน้อยมาก จึงปลูกไว้ให้นักเรียนได้ศึกษา ทั้งยังปลูกควบคู่กับมะยงชิด ไม้ผลที่มีความคล้ายคลึงและพัฒนาสายพันธุ์มาจากมะปราง

สำหรับโรงเพาะเห็ด โรงเรียนได้ดัดแปลงจากท่อปูนซีเมนต์เก็บน้ำมาใช้เป็นโรงเรือนเห็ด เพราะเก็บความชื้นได้ดี ปัจจุบัน เพาะเห็ดนางฟ้า

การเลี้ยงไก่ เลี้ยงยืนในกรงตับ มีไก่ จำนวน 90 ตัว ให้ไข่วันละประมาณ 70-90 ใบ

การเลี้ยงปลา เลี้ยงทั้งบ่อขุดขนาดใหญ่ของโรงเรียน ซึ่งปลาที่ปล่อยลงบ่อขุดจะไม่จับขึ้นมาขาย แต่สำหรับปลาที่เลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์ ขนาด 2x6 เมตร เป็นปลาดุก จำนวนทั้งหมด 6 บ่อ

การเลี้ยงกบ เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ขนาด 2x6 เมตร จำนวนทั้งหมด 2 บ่อ

แปลงปลูกผัก เน้นการปลูกผักสวนครัว เพื่อนำไปใช้ในโครงการอาหารกลางวัน

          ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านมุง บอกว่า ทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งอนาคต โรงเรียนอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมสำหรับการปลูกผักกางมุ้ง และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองภายในโรงเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างครบวงจร

          “ผลผลิตที่ได้จากการทำการเกษตรของนักเรียนทุกอย่าง มีวัตถุประสงค์หลักในการนำเข้าโครงการอาหารกลางวัน เมื่อเหลือจากการจำหน่ายให้กับโครงการอาหารกลางวันโดยผ่านสหกรณ์ของโรงเรียนแล้ว จึงจำหน่ายให้กับครู ผู้ปกครอง ชาวบ้านใกล้เคียง และตลาดนัดชุมชน ทั้งนี้ การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของโรงเรียนให้กับสหกรณ์ของโรงเรียนเอง จะจำหน่ายในราคาสูงกว่าปกติ เพราะเห็นว่า รายได้และผลกำไรที่ได้จะวนไปยังกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มยุวเกษตรกรเอง ยกเว้นการจำหน่ายให้กับครู ผู้ปกครอง ชาวบ้านใกล้เคียง และตลาดนัดชุมชน จะจำหน่ายในราคาปกติ”

          เด็กชายพีรพงษ์ เรืองแสง หรือ น้องแลค นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สนใจการเลี้ยงไก่ เล่าว่า ไก่ภายในโรงเรือนมี จำนวน 90 ตัว ในทุกวันต้องให้อาหารและน้ำเวลาเช้าและเวลาเย็น ในบางวันอาหารอาจให้ได้มากกว่า 2 มื้อ แต่จะดูจากการกินอาหารของไก่ หากไก่กินไม่อิ่มจึงให้เพิ่ม ไม่ควรให้โดยไม่สังเกตไก่ เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองอาหารและเพิ่มต้นทุนการผลิต สำหรับมูลไก่ในทุกสัปดาห์จะต้องเก็บมูลไก่ออกมา เพื่อนำไปผสมกับดิน เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยมูลสัตว์ นำไปใส่ให้กับไม้ผลและแปลงผัก สำหรับตนมองว่า การเลี้ยงไก่ทำได้ไม่ยาก จำนวนไก่ที่มีขณะนี้สามารถเก็บไข่ได้มากถึงวันละ 70-90 ใบ ซึ่งมากพอจะนำไปประกอบอาหารให้กับนักเรียนในโครงการอาหารกลางวันได้

          ด้าน เด็กชายสุรเกียรติ แสงแก้ว หรือ น้องฮาร์ท บอกว่า สนใจการประมง ได้แก่ การเลี้ยงปลาและการเลี้ยงกบมากกว่าสิ่งอื่น แม้ว่าที่บ้านจะประกอบอาชีพทำไร่อ้อย ไม่มีพื้นฐานเรื่องการทำการประมงเลย แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นความรู้ติดตัวนำไปประกอบอาชีพในอนาคตได้ สำหรับการเลี้ยงปลาของโรงเรียน ควรเรียนรู้เรื่องการกินอาหารของปลา เมื่อปลากินอิ่มก็ไม่ควรให้อาหารอีก เพราะจะทำให้อาหารเหลือ ส่งผลให้น้ำเสียตามมา ให้สังเกตจากการขึ้นมากินอาหารของปลา ถ้าปลานิ่ง ปล่อยอาหารลอย ไม่ขึ้นมากิน แสดงว่าอิ่ม ก็ไม่ควรให้อาหารอีก ส่วนการเลี้ยงกบ ซึ่งเป็นกบบูลฟร็อก การดูแลไม่ยากอย่างที่คิด ปล่อยกบรวมกันในช่วงแรก ประมาณ 50-100 ตัว ต่อบ่อ (บ่อขนาด 2x6 เมตร) เมื่อกบเริ่มโตต้องแยกบ่อให้จำนวนกบต่อบ่อน้อยลง เพื่อให้กบเจริญเติบโตเท่าๆ กัน และจับขายเมื่อได้มีน้ำหนักต่อตัว ประมาณ 200 กรัม

          ส่วนแปลงผักสวนครัว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นตัวแทนมาแบ่งปันแนวคิดการดูแลแปลงผักสวนครัวและเห็ด โดย เด็กหญิงเจียระไน เทียนไพร หรือ น้องกิ๊ป บอกว่า เริ่มลงแปลงเกษตรอย่างจริงจังเมื่ออยู่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ชอบดูแลแปลงผัก เพราะผักให้ผลผลิตเร็ว นำไปประกอบอาหารได้ ซึ่งงานหนักที่สุดในการดูแลแปลงผัก คือ การเตรียมแปลง เพราะต้องขุดดิน ปรับหน้าดิน เพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตดีเมื่อลงปลูก ที่สำคัญควรหมั่นดูแลดินให้มีแร่ธาตุที่สมบูรณ์ ก่อนลงปลูกควรเตรียมดินใหม่ทุกครั้ง ระหว่างการเจริญเติบโตต้องหมั่นรดน้ำเป็นประจำทุกวัน เช้าและเย็น

          เด็กหญิงแอลรี่ สกิ๊ปเปอร์ หรือ น้องแอลรี่ เสริมว่า ทุกวันที่มาโรงเรียนจะมีเวรดูแลแปลงผัก ซึ่งแบ่งไว้เรียบร้อยแล้ว ไปรดน้ำ ถอนวัชพืช ให้ปุ๋ย และตัดผลผลิตที่ได้ไปขายให้กับสหกรณ์ของโรงเรียน ดังนั้น การดูแลแปลงผักจึงไม่เกิดปัญหา เพราะไม่มีการเกี่ยงงานกัน นักเรียนทุกคนรู้จักหน้าที่และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดี

          ในช่วงท้ายของการสนทนา ว่าที่ร้อยตรีสมศักดิ์ กล้าไม้ ผู้อำนวยการโรงรียนวัดบ้านมุง กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอบคุณสำหรับไมตรีของหน่วยงานต่างๆ ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะการนำกล้าไม้หรือการนำก้อนเห็ดมาให้ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่โรงเรียนไม่ต้องลงทุนสูง แต่ทั้งนี้ ต้องขอความกรุณาสำหรับหน่วยงานที่ต้องการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทำการเกษตรของนักเรียน ในการคัดเลือกกิ่งพันธุ์และจำนวนที่นำมามอบให้ เพราะโรงเรียนมีขีดความสามารถที่จำกัด หากจำนวนมากไปอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง และการคัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่ดี เพราะจะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วย

          สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่การเกษตรและการส่งเสริมการเกษตรให้กับนักเรียนภายในโรงเรียน หากเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี โรงเรียนวัดบ้านมุง ยินดีให้ข้อมูลและเผยแพร่การดำเนินงาน ติดต่อได้ที่ ว่าที่ร้อยตรีสมศักดิ์ ลาไม้ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านมุง ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

ปลูกแล้วไม่มีที่ขาย ซื้อ-ขาย "ผลผลิตเกษตร" ได้ที่
VV คลิก VV

* * * * *
ที่มา : โรงเรียนเกษตร

แชร์...ตรงนี้  เพื่อเป็นประโยชน์ ให้เพื่อนที่ได้เห็น
VVVVVVVVV
Powered by Blogger.