Header Ads

Breaking News
recent

โรคของพริก และการป้องกัน - โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose)


โรคของพริก และการป้องกัน - โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose)


     พริกเป็นพืชผักในกลุ่ม Solanacious เซ่นเดียวกับมะเขือเทศแต่อยู่ใน Genus Capsicumในประเทศไทยที่นิยมปลูกมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดทั้งเผ็ดและไม่เผ็ดเช่น พริกขี้หนู (bird chilli) พริกมันหรือพริกชี้ฟ้า (hot pepper) พริกหยวก (banana pepper) และพริกยักษ์ หรือพริกหวาน (bell pepper) แม้ว่าพริกจะเป็นพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารประเภทปรุงแต่งรส แต่ก็เป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจจัดอยู่ในกลุ่มของพืชอาหารหลักชนิดหนึ่งของชาวไทยสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศและตลอดปี ขณะเดียวกันก็ปรากฎว่ามีโรคและศัตรูหลายชนิดขึ้นเกาะกินทำลายทำให้เกิดความเสียหายทั้งคุณภาพและปริมาณเป็นจำนวนมากในแต่ละปีเช่นกัน


โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose)

     แอนแทรคโนสเป็นโรคที่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดและทำความเสียหายที่ผลพริก ซึ่งชาวบ้านทั่วๆ ไปรู้จักกันในชื่อของโรคกุ้งแห้ง เนื่องจากลักษณะอาการแห้ง หงิกงอ และสีของผลพริกที่เปลี่ยนโป โรคนี้พบระบาดทำความเสียหายให้แก่พริกชนิดต่างๆ เช่น พริกมันแดง พริกบางช้าง พริกเหลือง พริกหนุ่ม ฯลฯ ในแหล่งที่มีการปลูก เช่น ในท้องที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ศรีสะเกษ เชียงใหม่ ฯลฯ โดยเฉพาะในฤดูฝน ซึ่งอากาศร้อนและชื้น โรคจะระบาดทำความเสียหายมาก

ลักษณะอาการ
     ผลพริกเริ่มเป็นแผลหรือจุดช้ำเป็นแอ่งยุบลง ลักษณะอาจกลมหรือไม่แน่นอน ขนาดก็ตั้งแต่จุดเล็กๆ ไปจนเต็มความกว้างของผลพริก อาจมีเพียงแผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ แผลเหล่านี้ต่อมาจะแห้งเป็นสีนํ้าตาลหรือดำพร้อมกับการสร้าง fruiting body ซึ่งเป็นที่เกิดของสปอร์หรือโคนิเดีย เป็นจุดสีเหลืองส้มหรือน้ำตาลดำเป็นวงๆ เรียงซ้อนกันอยู่ที่แผลดังกล่าวเชื้อจะเข้าทำลายผลพริกได้ทุกระยะการเจริญตั้งแต่เริ่มเป็นผลเล็กๆ จนโตเต็มที่และสุกแดงแล้ว อย่างไรก็ดีหากเป็นระยะที่ยังอ่อนเซลล์บริเวณแผลซึ่งถูกทำลาย จะหยุดการเจริญเติบโตขณะเดียวกันส่วนรอบๆ จะเจริญไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดอาการคดโค้งงอหรือบิดเบี้ยวขึ้นโดยมีแผล หรือเซลล์ที่ตายอยู่ด้านใน ลักษณะคล้ายกุ้งแห้งทำให้มีชื่อ เรียกดังกล่าว

     พริกที่เป็นโรคตามธรรมชาติมักแสดงอาการให้เห็นชัดเจนบนผลพริกที่แก่จัดหรือผลสุก ส่วนอาการบนใบ ยอดอ่อน และกิ่งจะเกิดโรคต่อเมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม โรคนี้ถ้าเกิดกับต้นกล้าจะทำให้ต้นกล้าแห้งตาย (seedling blight)

เชื้อสาเหตุ เกิดจากรา 2 ชนิด คือ
     1. Colletotrichum dematium (Syd.) Bulter & Bisby แผลมีสีนํ้าตาลถึงดำขนาดและรูปร่างไม่มีขอบเขตมี setae มาก conidia รูปโค้งเซลล์เดียวสีใส

     2. Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Sacc. เกิดแผลวงกลมรีมีขนาด 1-2 ซม. หรือใหญ่กว่านี้ แผลบุ๋มลึก มีสีเหลืองปนส้มและจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลเมื่อแผลเก่า พบ acervulus อยู่เป็นวงๆ บนแผล conidium รูปไข่เป็นแท่งเซลล์เดียว สีใส และไม่มี setae อย่างไรก็ตามสีของ fruiting body ของราทั้งสองนี้จะต่างหรือแยกออกจากกันได้ ขณะที่ยังอ่อนหรือเริ่มสร้างเท่านั้น พอแก่จะกลายเป็นสีดำเหมือนกันหมด

     Colletotrichum spp. มีการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ โดยการสร้างสปอร์หรือโคนิเดีย ภายใน fruiting body ลักษณะรูปถ้วยคว่ำ (acervulus) บนแผลซึ่งมองเห็นเป็นจุดๆ เรียงซ้อนกันเป็นวง เมื่อโคนิเดียแก่จะดันเปลือกด้านบน fruiting body ให้เปิดแตกออกแล้วหลุดออกมาข้างนอก ปลิวแพร่กระจายไปตามลม น้ำที่สาดกระเซ็น แมลง เครื่องมือกสิกรรม และสิ่งเคลื่อนไหวทุกชนิดที่ไปถูกต้องสัมผัสเข้า เมื่อตกลงบนผลพริกก็จะงอกเข้าทำลายแล้วก่อให้เกิดอาการขึ้น ภายใน 3-5 วัน จากพริกที่เป็นโรคเชื้อราจะถูกถ่ายไปยังเมล็ดเพื่ออยู่ข้ามฤดูและแพร่ระบาดต่อไป

     สำหรับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยในการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรค คือความชื้นต้องสูงกว่า 95% อุณหภูมิระหว่าง 27 – 32° ซ.

การป้องกันกำจัด
     1. เมล็ดพันธุ์ควรเก็บจากแปลงที่ไม่เป็นโรคมาก่อน ถ้าจำเป็นต้องเก็บจากแปลงที่เป็นโรค ก่อนปลูกควรทำ seed treatment เช่น hot water treatment ใช้อุณหภูมิ 50-52°ซ. นาน 30 นาที พบว่าได้ผลดีมาก หรือใช้สารเคมี Delsene MX คลุกเมล็ดในอัตรา 0.8% ของนํ้าหนักเมล็ดก็ได้ผลดีเช่นกัน

     2. ปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับพืชที่ไม่อยู่ในวงศ์ Solanaceae และหมั่นทำลายวัชพืช จัดการระบายนํ้าให้ดี ตลอดจนเก็บเศษซากพืชที่เป็นโรคนี้ทำลายเสีย

     3. หลังจากเก็บพริกจากต้นแล้วและอยู่ในระหว่างการขนส่ง ควรเก็บไว้ในที่เย็น ภายใต้อุณหภูมิคงที่ พริกจะไม่ค่อยเกิดโรค

     4. เมื่อต้นพริกโตแล้ว ฉีดสารเคมีป้องกันไม่ให้เกิดโรค เช่น imazalil, prochloraz, benomyl, carbendazim, mancozeb, maneb และ Delsene MX เป็นต้น

* * * * * *
โดย : Kaset NaNa เกษตรนานา


ลิ้งค์ที่น่าสนใจ


Powered by Blogger.