Header Ads

Breaking News
recent

การปลูกอ้อย (ตอนที่ 3/4) การบำรุงดินและการใส่ปุ๋ย


การปลูกอ้อย (ตอนที่ 3/4) การบำรุงดินและการใส่ปุ๋ย

การบำรุงดินและการใส่ปุ๋ย
  1. การบำรุงดิน
    การเพิ่มผลผลิตอ้อยมีความจำเป็นต้องใส่ปุ๋ย ดินในเขตร้อนชื้นมักจะเกิดการชะล้างสูง การใช้ปุ๋ยติดต่อกันเป็นระยะยาวนาน อาจทำให้ดินเปลี่ยนเป็นดินกรด สภาพทางกายภาพของดินเลวที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเกิดการใช้รถบรรทุกหรือเครื่องมือทุ่นแรงขนาดใหญ่ลงไปเหยียบย่ำ การให้น้ำชลประทานมากเกินไป จะมีผลกระทบต่อสัดส่วน ของน้ำ และอากาศในดิน และทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินเลวลง ผลผลิตของอ้อยจะลดลง

    วิธีการบำรุงดิน
    • การบำรุงดินเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพ
      ใช้ไถดินดาน ไถทำลายชั้นดินดาน โดยไถลึกประมาณ 50-75 เซนติเมตร ในการเตรียมดินเพื่อปลูกอ้อย ไม่ควรไถให้ดินละเอียดเกินไป เพราะจะเกิดดินดานได้ง่าย ควรมีการปลูกพืชคลุมดิน พืชแซม หรือพืชหมุนเวียน โดยใช้พืชตระกูลถั่ว ไม่ควรเผาใบอ้อยก่อน หรือหลังการเก็บเกี่ยว
    • การบำรุงดินเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมี
      การเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
      • ใช้ระบบการปลูกพืช เช่น การปลูกพืชแซม พืชคลุมดิน เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน
      • ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และกากหม้อกรอง (filter cake)
      • การใส่ปุ๋ยเคมี วิธีนี้ง่าย รวดเร็ว และสะดวกในการปฏิบัติ

    การใส่ปุ๋ยอ้อย
    • ความต้องการธาตุอาหารของอ้อย
      ธาตุอาหารหลักคือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) เป็นธาตุอาหารที่ทำให้อ้อยให้ผลผลิตสูง ธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) ซัลเฟอร์ (S) สังกะสี (Zn) โบรอน (B) คอปเปอร์ (Cu) โมลิบดีนัม (Mo) และซิลิคอน (Si) มีความสำคัญในการช่วยการเจริญเติบโตของอ้อย (สำหรับ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O) มีปริมาณพอ ในน้ำ ดินและอากาศ)
    • ความสำคัญของธาตุอาหาร
      ไนโตรเจน (N) พืชต้องการธาตุไนโตรเจนปริมาณมาก เพราะเป็นธาตุอาหารที่สำคัญในการเจริญเติบโตด้านลำต้นและใบ ทำให้การแตกกอของอ้อยดี มีจำนวนลำต่อกอสูง การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ต้องคำนึงถึงอัตรา ชนิด เวลาใส่และวิธีใส่ เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุด รูปของปุ๋ยไนโตรเจนที่นิยมใช้ในการปลูกอ้อยคือ
      • ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต เมื่อหว่านลงไปในดิน จะไม่สูญเสียไนโตรเจนง่ายเหมือนปุ๋ยยูเรีย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาจเกิดการระเหิด (การสูญเสียจากดินในรูปของก๊าซ: volatilization) ของแอมโมเนียมสูง หรือในดินที่ขาดกำมะถัน
      • ปุ๋ยยูเรีย ดีกว่าปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต คือมีเนื้อธาตุไนโตรเจนสูง จึงควรใส่ในอัตราที่น้อยกว่า
      ผลตกค้างของปุ๋ยไนโตรเจนในดินหลังฤดูเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยยูเรียหรือแอมโมเนียมซัลเฟต คือก่อให้เกิดความเป็นกรดในดิน แต่ผลตกค้างของปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตก่อให้เกิดความเป็นกรดสูงกว่าสูงกว่าปุ๋ยยูเรียสองเท่า
      ฟอสฟอรัส (P) อ้อยใช้ฟอสฟอรัสประมาณ 3 -11 กิโลกรัม P2O5 ต่อไร่ต่อปี ดังนั้นการแนะนำ อัตราปุ๋ยจึงแตกต่างกันออกไป ชนิดของปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ใช้ในเขตร้อน ได้แก่ โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต หรือทริปเปิลซูเปอร์ฟอสเฟต แต่ต้องใส่ครั้งละไม่มากนักเพื่อลดการตรึงฟอสเฟตของดิน หรือใช้ปุ๋ยฟอสเฟตที่ละลาย ช้า เช่น หินฟอสเฟต (rock phosphate) ฟอสฟอรัสมีผลมากมายต่อการเจริญเติบโต ของรากและหน่อ
      โพแทสเซียม (K) อ้อยเป็นพืชที่ต้องการธาตุโพแทสเซียม ในปริมาณมากกว่าธาตุอาหารชนิดอื่นใดทั้งหมด หน้าที่ของธาตุโพแทสเซียม เช่นช่วยในการสังเคราะห์แสง สร้างโปรตีน การเคลื่อนย้ายโปรตีน และน้ำตาลต่าง ๆ ช่วยในการเคลื่อนที่ของน้ำ เข้าสู้ต้นพืช ช่วยให้รากเจริญเป็นปกติ เป็นต้น ธาตุโพแทสเซียมที่มีบทบาท ต่อการเปิดปิดของปากใบพืช แสดงให้เห็นว่าธาตุโพแทสเซียมมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อพืช
      เมื่ออายุ 3-7 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่อ้อยเจริญเติบโตเร็วมาก อัตราการดูดซึมโพแทสเซียมจะเร็วมากขึ้น มีผลต่อผลผลิตและความหวานของอ้อยพร้อมกัน

      * * * * * *

      การปลูกอ้อย (ตอนที่ 1/4) การเตรียมดิน และการปลูกอ้อย

      การปลูกอ้อย (ตอนที่ 2/4) การดูแลรักษาอ้อย

      การปลูกอ้อย (ตอนที่ 3/4) การบำรุงดินและการใส่ปุ๋ย

      การปลูกอ้อย (ตอนที่ 4/4) การบำรุงรักษาตออ้อย


      ที่มา : Easternsugar


Powered by Blogger.